สสส. ผนึก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กรมควบคุมมลพิษ กรมโลกร้อน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย กทม. และ 14 ศูนย์อาหารทั้งภาครัฐและเอกชน นำร่องลดขยะอาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบาง ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมือง พร้อมวางโรดแม็พตั้งเป้าลดขยะอาหารลง 25% ภายในปี 2570
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การจัดการขยะอาหารและปัญหาอาหารส่วนเกินเป็นหนึ่งในวาระระดับโลก ทาง UN จึงกำหนดหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านการลดปริมาณขยะอาหารในระดับค้าปลีกและการบริโภคทั่วโลกลง 50% ภายในปี 2573 (จากปีฐาน 2558) เช่นเดียวกับปัญหาในประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ที่มีคนอาศัยหนาแน่น และขาดพื้นที่จัดการอาหารส่วนเกิน จึงเกิดการทิ้งอาหารส่วนเกินทั้งจากบ้านเรือน ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร รวมท้ังไม่มีการนำไปจัดการอย่างถูกต้อง ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางแหล่งกำเนิด พร้อมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างผู้สร้างขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงส่งต่อให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อช่วยลดทั้งปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ลดมลพิษและการสร้างก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในเขตเมืองด้วย
คุณปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะอาหารประมาณ 9.7 ล้านตัน หรือราว 146 กิโลกรัม/คน/ปี โดยแหล่งกำเนิดสำคัญของขยะอาหาร ประกอบด้วย ตลาดสด ซึ่งมีสัดส่วนขยะอาหารถึง 77.26% จากปริมาณขยะทั้งหมดภายในตลาด ตามมาด้วย ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ มีสัดส่วนขยะอาหาร 54.94% จากปริมาณขยะทั้งหมด อาคารสำนักงาน มีสัดส่วนขยะอาหาร 41.41% คอนโดมิเนียม 40.998% โรงแรม 37.03% ซึ่งสถานประกอบการต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะมีศูนย์อาหารอยู่ด้วย และถือเป็นจุดสำคัญที่สร้างให้เกิดขยะอาหาร ที่จำเป็นต้องเข้ามาจัดการดูแล เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ทาง UN ได้วางไว้
“ทั้งนี้ โรดแม็พเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารให้ลดลงครึ่งหนึ่งตามเป้าหมายในปี 2573 ได้วาง Action Plan เป็น 2 ระยะที่ ซึ่งระยะแรก ระหว่าง พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อวางกรอบและทิศทางการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนจากแหล่งกำเนิด มุ่งเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ประกอบอาหาร รวมทั้งผู้บริโภค ตามวิถีการบริโภคที่ยั่งยืน ทั้งการป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง การลดขยะอาหาร การนำไปใช้ประโยชน์ต่ออย่างคุ้มค่า เพื่อให้เหลือปริมาณส่วนน้อยที่สุดสำหรับนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง โดยมีเป้าหมายลดขยะอาหารลงมากกว่า 25% ภายในปี 2570 และระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2571 -2573 ในรูปแบบของการขยายผลเพื่อลดปริมาณขยะอาหารลงให้เพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2573”
ขณะที่กำแพงสำคัญของประเทศในการบริหารจัดการขยะอาหาร ดร.วิจารย์ อินทรกำแหง ผอ.ส่วนบริการจัดการมูลฝอยชุมชน กรมควบคุมมลพิษ เสริมว่า มาจาก 10 ปัญหาต่อไปนี้ คือ 1. ขาดข้อมูลขยะอาหารของแต่ละภาคส่วน 2.การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภต (การบริโภค -การทิ้ง) 3.ไม่มีแนวปฏิบัติในการป้องกัน ลด การใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร 4. การบริจาคและส่งต่ออาหารส่วนเกินยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ 5.ไม่มีมาตรฐานกลางในการดูแลอาหารส่วนเกิน 6.ขาดแรงจูงใจ เครื่องมือ กลไกให้ภาคธุรกิจปฏิบัติ 7.นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการกำจัดอาหารยังมีราคาแพง 8. ไม่มีระบบคัดแยกและจัดเก็บขยะมูลฝอย 9. ขาดระบบจัดเก็บและรายงานข้อมูลขยะอาหาร และ 10. ขาดศูนย์ความรู้กลางด้านการจัดการขยะอาหาร
‘ศูนย์อาหาร’ แหล่งกำเนิดหลักขยะอาหาร
คุณณัฐณิชา ยี่ลังกา นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ปริมาณขยะอาหารเกือบ 10 ล้านตัน ในปี 2565 ที่ผ่านมา คิดเป็น 38% ของขยะมูลฝอย 26 ล้านตัน ที่เกิดภายในชุมชน ซึ่งเกือบ 90% ที่นำไปเทกองและฝังกลบ และราว 10% ที่มีการนำไปจัดการภายในครัวเรือน และนำไปทำปุ๋ยหมัก ขณะที่ศูนย์อาหารเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน มักจะมีวัตถุดิบที่เหลือทิ้งทั้งจากขั้นตอนการเตรียมอาหาร ที่อาจมีการสูญเสียวัตถุดิบ จากการจัดเก็บไม่ได้คุณภาพทำให้เสียหรือหมดอายุ รวมทั้งจากการตัดแต่งเพื่อนำไปก่อนนำไปปรุง ขณะที่ในการปรุงอาหาร ที่อาจจะมีการเตรียมในปริมาณมากเกินไป ทำผิด หรืออาหารไหม้ หรืออาหารที่ลูกค้ารับประทานเหลือ รวมไปถึงขยะอื่นๆ ภายในครัวที่มักจะทิ้งรวมๆ กันไป ทำให้ปริมาณขยะทั้งในครัวและที่เหลือภายในจานมีปริมาณมากพอๆกัน
“การจัดการขยะอาหารภายในศูนย์อาหารจะใช้หลักการทั้งการป้องกัน การลด เพื่อให้เกิดการสูญเสียอาหารให้น้อยที่สุด รวมทั้งการนำส่วนที่รับประทานไม่หมดมาแปรรูป หรือแปลงสภาพเพื่อให้มีส่วนที่เหลือมากำจัดให้น้อยที่สุด และนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ภายใต้ความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับทั้งผู้บริหารองค์กร ผู้จัดการศูนย์อาหาร ที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการขับเคลื่อนของพนักงาน หรือในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารหรือผู้ปรุงอาหาร ที่ต้องคำนวณวัตถุดิบในการนำมาใช้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการจัดเก็บ และการใช้วัตถุดิบ หรือการตักอาหารให้ลูกค้าในขณะจำหน่าย จากการสังเกตุพฤติกรรมของลูกค้าหรือจำนวนยอดขายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ในส่วนของพนักงาน ก็ต้องให้ความสำคัญกับการแยกประเภทขยะแต่ละประเภทโดยไม่ปะปนกัน รวมทั้งในส่วนของลูกค้าเองก็สามารถบอกปริมาณที่ตัวเองต้องการ หรือไม่รับอาหารที่ไม่ทาน เพื่อป้องกันการเกิดขยะ และหากมีอาหารเหลือก็ให้แยกทิ้งออกจากอาหารประเภทอื่น”
ดร.ภานุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนนโยบาย ‘ไม่เทรวมของ กทม.’ ส่งผลให้ปริมาณขยะของ กทม. ในปี 2566 ลดลงจากปี 2665 จำนวนเฉลี่ย 204 ตันต่อวัน จาก 8,979 ตันต่อวัน เหลือ 8,775 ตันต่อวัน หรือลดลงได้มากกว่า 74,460 ตัน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บลงได้มากกว่า 140 ล้านบาท ขณะที่ขยะอาหารเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 48% จากขยะ 14 ประเภทตามชนิดของวัสดุ ซึ่งทาง กทม. ได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป เพื่อนำไปบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ภายใต้การจัดการขยะของ กทม. ที่เน้นการจัดเก็บอย่างครอบคลุมเพื่อไม่มีขยะตกค้าง และกำจัดขยะที่จัดเก็บให้หมดวันต่อวัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด โดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกครัวเรือน และแหล่งกำเนิดขยะใหญ่ ๆ เช่นโรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ตลาด วัด ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาเก็ต โรงพยาบาล ธนาคาร สำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ร้านอาหาร ลดและคัดแยกขยะตามหลักการ 3R คือ Reduce ลดการใช้ ลดการผลิตขยะ Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ โดยขยะรีไซเคิล จะนำไปส่งขาย ขยะอินทรีย์ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิด ขยะอันตราย แยกขายใช้ประโยชน์หรือส่งกำจัด ส่วนที่เหลือคือขยะทั่วไป ซึ่งจะมีการส่งกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การประกาศเจตจำนงความร่วมมือจัดการขยะอาหารจากศูนย์อาหาร จะเป็นการนำร่องความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินของประเทศ มีความร่วมมือสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. สนับสนุนให้ศูนย์อาหารและหน่วยงานต่าง ๆ มีข้อมูลและกำหนดเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกินด้วยระบบคัดแยกและรวบรวมให้เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างเหมาะสม 2. ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน 3. ส่งเสริมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับผู้ประกอบอาหารและผู้จำหน่ายอาหารในการป้องกัน ลด คัดแยก และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน 4. พัฒนาและขยายผลรูปแบบที่เหมาะสมและแนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกินจากศูนย์อาหาร และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินที่แหล่งกำเนิด 5. ขับเคลื่อนนโยบายและแผนจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ด้วยกลไกข้อมูล กฎระเบียบ และการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง
“สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มุ่งสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะอาหารอย่างเป็นระบบ สนับสนุนทางวิชาการ การเผยแพร่ข้อมูล และผลักดันให้เกิดการจัดการขยะอาหารจากแหล่งอาหารอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้าย