หมู่บ้านดงผาปูน ตั้งอยู่ใน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ล้อมรอบ ไปด้วยภูเขา ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน และเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำน่าน 1 ใน 25 ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ
พื้นที่แห่งนี้เคยอยู่ในสภาพเขาหัวโล้น แห้งแล้ง จากปัญหาของการบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อนำไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือการทำไร่เลื่อนลอย ส่งผลให้ในพื้นที่จะเกิดปัญหาน้ำหลาก ดินถล่ม ในฤดูฝนจะไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ ส่วนฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและทำการเกษตร ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้
โดยในลุ่มน้ำน่านมีพื้นที่เขาหัวโล้นมากถึง 8 แสนไร่ หรือคิดเป็น 11% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด 7.6 ล้านไร่ นำมาสู่การสร้างต้นแบบการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อร่วมฟื้นฟูเขาหัวโล้นผ่าน ‘โครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ ลุ่มน้ำน่าน’ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำน่าน บรรเทาปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วม และน้ำแล้ง ตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย และความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และชุมชนในพื้นที่ ทั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กองทัพภาคที่ 3 อุทยานแห่งชาติขุนน่าน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560
ฟื้นน้ำ ฟื้นป่า ฟื้นชีวิต
ภายหลังได้เข้าเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบการจัดการน้ำชุมชนซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 7 แล้ว ทำให้ปัจจุบันหมู่บ้านดงผาปูน กลับมามีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยการพัฒนาระบบท่อส่งน้ำภูเขาเข้าสู่พื้นที่ โดยใช้น้ำจาก 7 ลำห้วย พร้อมเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้สามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่ากว่า 1,800 ไร่ ในพื้นที่ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน
โดยได้ปรับรูปแบบการบริหารจัดการแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย ป่าประเพณี ป่าขุนน้ำ ป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์ พร้อมแบ่งพื้นที่เกษตรในพื้นที่ตามสัดส่วนต่อไปนี้
• 20% ของพื้นที่จะสงวนให้เป็นที่ปลูกป่าถาวร สำหรับปลูกไม้ยืนต้น เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำที่มีความชุ่มชื้น รากของไม้ยืนต้นมีขนาดใหญ่และสามารถรักษาดินไว้ได้
• 20% ของพื้นที่ถัดลงมาจะเป็นพื้นที่ป่าใช้สอย ชาวบ้านสามารถปลูกไม้ยืนต้นที่สร้างรายได้หรือนำเอาผลผลิตที่ได้ไปขายได้
• 30% ถัดลงมาจะเป็นพื้นที่สำหรับการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ หม่อน ต๋าว หวาย มะขมได้
• 30% พื้นที่ราบจะจัดให้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ หรือพืชหมุนเวียน
แนวทางดังกล่าวทำให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนได้แบบยั่งยืน รวมทั้งสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้คนในชุมชน เช่น กลุ่มแปรรูปต๋าว กลุ่มจักสาน กลุ่มเพาะกล้าไม้ พร้อมทั้งสามารถจัดตั้งกองทุนชุมชนด้วยการหักรายได้เข้ากลุ่ม 10% เพื่อเป็นต้นทุนและค่าดำเนินการ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกคนในชุมชน เพื่อรู้สึกถึงความเป็นเข้าของ และอยากปกป้องผืนป่า ซึ่งเป็นต้นทางในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้ผู้คนในชุมชนได้ถึง 1o เท่า เมื่อเทียบกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเดิม
คุณพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการ กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า กองทุนฮอนด้าฯ เริ่มก่อตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2555 และมองเห็นว่าปัญหาการจัดการน้ำนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย จึงได้เข้ามาสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ตั้งแต่ปี 2560 ทั้งการสนับสนุนงบประมาณ พร้อมทั้งการร่วมลงพื้นที่เพื่อศึกษาปัญหาร่วมกัน พร้อมทั้งช่วยต่อยอดโมเดลธุรกิจจากผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งตลอดการขับเคลื่อนโครงการมากว่า 7 ปี ผ่านงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านทั้ง 5 พื้นที่ได้กว่า 1.44 แสนลูกบาศก์เมตร สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่การเกษตรได้กว่า 7,643 ไร่ และสร้างผลกระทบเชิงบวกไปสู่ 2,198 ครัวเรือน หรือคิดเป็นจำนวนประชากรเกือบ 6 พันคน
ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จจากพื้นที่บ้านดงผาปูน จะสามารถขยายผลไปสู่การช่วยแก้ปัญหาให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ทั่วประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ยึดกรอบคิด กรอบงาน และหลักการทรงงาน เช่น การพึ่งตนเอง คิดให้เชื่อมโยงกัน ใช้ธรรมชาติแก้ธรรมชาติทำงานที่เหมาะสมกับพื้นที่ หรือภูมิสังคม ลงมือทำและสร้างตัวอย่างความสำเร็จ เพื่อสามารถถ่ายทอดและขยายผลความสำเร็จสู่ชุมชนอื่น จนเกิดการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ล่าสุด พื้นที่บ้านดงผาปูน ยังได้รับการคัดเลือกและประกาศให้เป็น ‘พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ’ ลำดับที่ 27 จากจำนวน 28 แห่ง ในฐานะชุมชนต้นแบบสำหรับการขยายผลให้กับชุมชนอื่นๆ ในการมาศึกษาดูงานเพื่อนำไปสร้างโมเดลการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง โดยเตรียมนำโมเดลขยายไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ทั้งใน จ.น่าน จ.แพร่ และปราจีนบุรี ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ใกล้เคียงอย่าง บ้านวังปะ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน พร้อมเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย 1) เพื่อชะลอน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นของป่าชุมชน จำนวน 800 ไร่ 2) เพื่ออนุรักษ์และเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำท้องถิ่น 3) เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น 4) เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้แก่ป่าและสัตว์ป่า และ 5) เพื่อเป็นแหล่งอาหารและเสริมอาชีพให้คนในท้องถิ่น