ในวงการ ‘เบียร์’ ก็เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มองเห็นความพยายามของบรรดาผู้ผลิตในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เครื่องดื่มชนิดนี้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งกระบวนการผลิต ที่ หลายๆ โรงงานเพิ่มการใช้ #Renewable ในการผลิตมากขึ้น หรือด้านการจัดการด้านบรรจุภัณฑ์ทั้งการผลิต การเก็บกลับ เพื่อสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยที่สุด
และต่อไปนี้เป็น 5 ไอเดียที่น่าสนใจจากหลายๆ ประเทศ เพื่อเพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับเบียร์ ประกอบด้วย
1. คาร์ลสเบิร์กเปิดตัวต้นแบบ “ขวดกระดาษ”ครั้งแรกของโลก
ค่ายเบียร์ระดับโลกอย่าง Carlsberg Group เปิดตัวต้นแบบ “ขวดกระดาษ” ครั้งแรกของโลกในงาน C40 World Mayors Summit ที่จัดขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเกน ในปี 2019 โดยเปิดตัวต้นแบบขวดกระดาษ 2 ชิ้น ที่ผลิตจากเยื่อไม้จากแหล่งปลูกที่ยั่งยืน และสามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด พร้อมบุแผ่นกันซึมด้านในเพื่อให้สามารถบรรจุเบียร์ได้ โดยขวดหนึ่งใช้แผ่นกันซึมฟิล์มโพลีเมอร์ PET ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลชนิดบาง ส่วนอีกขวดใช้แผ่นกันซึมเป็นแผ่นฟิล์มโพลีเมอร์ PEF จากวัสดุชีวภาพ 100% โดยต้นแบบขวดเหล่านี้ต้องถูกนำไปทดสอบเทคโนโลยีป้องกันการซึมผ่านต่อไป ขณะที่คาร์ลสเบิร์กเองก็กำลังหาทางออกเพื่อบรรลุเป้าหมายในการใช้ขวดที่ผลิตจากวัสดุชีวภาพ 100% โดยปราศจากโพลีเมอร์ต่อไป
ความสำเร็จครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ Green Fiber Bottle ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตร ในการร่วมกันพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่มาจากเยื่อไม้จากแหล่งปลูกที่ยั่งยืนตั้งแต่ปี 2015
2. Epic OneWater Brew เบียร์จากน้ำรีไซเคิล
บริษัทเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย Epic Cleantec จับมือกับผู้ผลิตเบียร์อย่าง Devil’s Canyon Brewing นำน้ำรีไซเคิลที่ได้จากการติดตั้งเทคโนโลยีระบบการบำบัดน้ำเสียตามอพาร์ทเม้นท์สูงต่างๆ ในเมืองซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มารีไซเคิลเพื่อใช้ในการผลิตเบียร์ Epic OneWater Brew ซึ่งเป็นเบียร์ Ale สไตล์ Kölsch และเปิดตัวครั้งแรกในงาน the Greenbuild International Conference and Expo เมืองซานฟรานซิสโก ปี 2023
โดยเบียร์ Epic OneWater Brew ไม่ได้วางจำหน่ายแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายยังไม่อนุญาตให้ใช้น้ำรีไซเคิลในการผลิตเครื่องดื่มเชิงพาณิชย์ แต่มีเป้าหมายในการเปิดตัวเพื่อต้องการให้ผู้คนสนับสนุนไอเดียเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริหารจัดการน้ำหมุนเวียน และเพื่อสนับสนุนนโยบายที่ส่งเสริมนวัตกรรมการใช้น้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และกระตุ้นให้ผู้คนเห็นถึงคุณประโยชน์ของการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และยิ่งไปกว่านั้น ทำให้เกิดการพูดคุยกันถึงวิธีที่จะช่วยประหยัดน้ำในพื้นที่เมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
3. Surplus Series เบียร์จากขยะอาหาร หรือ Food waste
Local Brewing Co. ร่วมกับ Coles Liquor และ SecondBite องค์กรจัดการด้านอาหารในออสเตรเลีย เปิดตัวเบียร์ Surplus Series ที่ใช้วัตถุดิบจากผล Nectarine ซึ่งเป็นผลไม้ตามฤดูกาลของออสเตรเลีย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เผชิญกับปัญหาผลผลิตล้นตลาด หรือ Over Supply พร้อมด้วยขนมปังหลายร้อยกิโลกรัมที่เหลือทิ้งจากซูเปอร์มาร์เก็ตในเมลเบิร์น เพื่อนำมาผลิตแปรรูปเป็นเบียร์รักษ์โลก ‘Surplus Series’ และจำหน่ายในแคมเปญช่วงเทศกาลคริสมาสต์ ระดมทุนช่วยเหลือเป็นมื้ออาหารให้กับ SecondBite พร้อมสร้างความตระหนักรู้เรื่อง Food Waste
4. นวัตกรรมเบียร์ผง จากเยอรมนี
Klosterbrauerei Neuzelle โรงผลิตเบียร์ในเยอรมนี เปิดตัวเบียร์ผงสำหรับชงดื่มเป็นรายแรกของโลก หลังซุ่มพัฒนามากว่า 2 ปี เพื่อตอบโจทย์การลดคาร์บอนของประเทศเยอรมนีรวมทั้งทั่วโลกลงได้ หากสามารถจำหน่ายผงเบียร์เป็นวัตถุดิบให้ผู้ผลิตเบียร์ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตเบียร์ รวมทั้งน้ำหนักที่น้อยลงในการขนส่งลงราว 90% และมีปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ต่างๆ น้อยลง จึงลดการใช้พลังงานโดยรวมน้อยลงด้วย ซึ่งทางผู้ผลิตได้มีการประเมินว่าหากสามารถขยายตลาดในอุตสาหกรรมเบียร์ จะช่วยลดคาร์บอนในเยอรมนีโดยรวมลงได้ราว 3-5% และลดคาร์บอนภาพรวมทั้งโลกลงได้กว่าครึ่งหนึ่ง
5. ‘คราฟท์เบียร์น้ำใส’ จากวัสดุเหลือใช้ในชุมชนจากอยุธยา
คราฟท์เบียร์ตอซังข้าว คราฟท์เบียร์จากผักตบชวา แบรนด์ ‘น้ำใส’ จากจังหวัดอยุธยา ของไทยเรานี่เอง ไอเดียสุดครีเอทจากศูนย์ฝึกอาชีพของชุมชน หรือศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน.ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นำวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นมาต่อยอดทางเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เกิดเป็นขยะ (Zero Waste) โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม มาช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตามนโยบาย BCG พร้อมสะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนได้ด้วย
ผลิตภัณฑ์เด่นอย่างคราฟท์เบียร์ตอซังข้าว และคราฟท์เบียร์จากผักตบชวา มาจากการพยายามต่อยอด Waste ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนทั้งตอซังข้าว ที่เหลือหลังจากการเก็บเกี่ยวนาข้าว จึงนำมาผลิตเบียร์เพื่อลดปัญหาการกำจัดตอซังข้าวด้วยการเผา เช่นเดียวกับผักตบชวาที่มีปริมาณมากตามแม่น้ำลำคลองในพื้นที่และกลายเป็นมลภาวะทางน้ำ นำมาต่อยอดเพื่อสร้างโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งช่วยลดปัญหาให้กับผู้คน รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ พร้อมช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง