ในงานประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งยังมีประกาศจากนาย António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในปี 2566 ว่า เราได้สิ้นสุดภาวะโลกร้อนแล้ว และกำลังเข้าสู่ ภาวะโลกเดือด แสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤตของปัญหาสภาพภูมิอากาศ
คุณปิยะชาติ (อาร์ม) อิศรภักดี CEO, BRANDi and Companies ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ระดับองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้เข้าร่วมงานดังกล่าว ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน จากประเทศไทย คุณอาร์มแชร์มุมมองที่น่าสนใจจากงานว่า
“Global Stocktake หรือ การเช็กสต๊อกของโลก ซึ่งหมายถึงการเช็กทรัพยากรธรรมชาติที่โลกคงเหลืออยู่ เป็นหัวข้อหลัก ๆ ที่ถูกพูดถึงในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และเพื่อที่จะไม่ให้การเช็กสต๊อกครั้งแรกของโลกนี้เป็นเพียงแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพียงเท่านั้น ‘ความร่วมมือ’ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”
คุณอาร์มได้ขยายความเรื่องของ ‘ความร่วมมือ’ ไว้ในการเสวนาของงาน COP28 หัวข้อ Bio-circular-green Economy: A Road towards Net-zero ว่า “ความสำเร็จที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือ ไม่ใช่การแข่งขัน” (Collaborativeness over Competitiveness) ไม่ว่าจะเป็น…
- ความร่วมมือจากภาครัฐ : เปลี่ยนจากการกำหนดและควบคุมเป็นส่งเสริมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
- ความร่วมมือจากภาควิชาการ : เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนข้อมูลและความรู้เพื่อมองหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น
- ความร่วมมือจากภาคเอกชน : สร้างความร่วมมือตลอดทั้งระบบนิเวศและห่วงโซ่คุณค่าของตัวเองเพื่อปิดช่องว่างและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนให้เห็นภาพชัดเจน ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะยังอยู่เช่นเดิม และไม่ถูกแก้ไข
แม้ว่าปีนี้จะมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เห็นว่าทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหานี้และพยายามแก้ไขด้วยวิธีของตัวเอง หากแต่ยังไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่า วิธีการแก้ปัญหาที่กำลังลงมือทำนี้จะสามารถนำเราไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้จริงหรือไม่
คุณอาร์มได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า เราอาจจะต้องเร่งปรับในส่วนที่เป็นภาพใหญ่ที่สุดก่อน แทนการทำแบบองค์รวมทั้งหมด และนอกจากการมีมาตรการแล้ว ควรจะมีกลไกตรงกลางที่ช่วยทำให้เราไปถึงเป้าหมายด้วย
อย่างไรก็ดี การประชุม COP28 ในครั้งนี้ก็ได้เป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีกับทุกคนบนโลกว่า เรามีปัญหาที่จะต้องแก้ และคนที่พร้อมเท่านั้นที่จะสามารถมองเห็นโอกาสจากสิ่งนี้และสามารถสร้างการเติบโตให้กับตัวเองไปพร้อม ๆ กับการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ไม่มีอะไรช้าเกินไป สำหรับการเปลี่ยนโลกไปสู่ความยั่งยืนและอนาคตที่สดใส