PRO-Thailand Network เร่งหาโมเดล​จัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว พร้อมศึกษา Best Practice จาก​เบลเยียมและอินโดนีเซีย เตรียมพร้อมก่อนประกาศใช้ EPR

“PRO-Thailand Network” ร่วมภาครัฐ เอกชน ขับเคลื่อนนโยบาย EPR ในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้เหมาะสมกับบริบทไทย และใช้ได้จริง

โดยได้ระดมความคิดและแลกเปลี่ยนมุมมองการดำเนินการของ PRO ในยุโรปและอาเซียน  ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ตามเป้าหมาย พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน เตรียมพร้อมรับ EPR เพื่อสร้างอนาคตเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน

“เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ “PRO-Thailand Network” จัดสัมมนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “PRO-Thailand Network ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย EPR สู่การบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างยั่งยืน” (Driving Thailand’s EPR Policy: Unveiling Voluntary PRO for Change) โดยมีวิทยากรจากภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมเผยแนวทางการขับเคลื่อนหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) หรือหลักการ EPR ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

รวมทั้งบทบาทสำคัญที่องค์กร PRO ภาคสมัครใจสามารถทำได้ รวมทั้งวิทยากรจากต่างประเทศทั้ง Fost Plus ประเทศเบลเยียม  และ Indonesia Packaging Recovery Organization (IPRO) ประเทศอินโดนีเซีย มาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์การจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วภายใต้หลักการ EPR

การสัมมนามีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการรับรู้เรื่องหลักการ EPR ในเชิงนโยบาย และการดำเนินการขององค์กร PRO ภาคสมัครใจในประเทศไทย รวมถึงเส้นทางการพัฒนาองค์กร PRO ในต่างประเทศ พร้อมทั้งเชิญชวนผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์มาทำงานร่วมกับ PRO-Thailand Network เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย EPR และพร้อมรับมืออย่างเป็นระบบ

 เบลเยี่ยม Recycling Hub ของสหภาพยุโรป

เริ่มจากตัวอย่างที่น่าสนใจของ PRO ของเบลเยียม ซึ่งมีบทบาททำให้เบลเยียมกลายเป็น Recycling Hub ของสหภาพยุโรป เพราะประสบความสำเร็จในการจัดการบรรจุภัณฑ์และเก็บกลับเข้าสู่ขบวนการรีไซเคิล เกินเป้าหมาย และกลายเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการรีไซเคิล สร้างเกณฑ์มาตรฐานสำหรับประเทศอื่นๆ

โดยตัวแทนจาก Fost Plus องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และเป็นองค์กร PRO แห่งเดียวในประเทศเบลเยียมที่รับผิดชอบการจัดการและการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจากครัวเรือน (Household Packaging Waste) คุณโธมัส เดอ เมสเตอร์ ผู้จัดการด้านกิจการและกฎหมายสาธารณะ เปิดเผยว่า Fost Plus รับผิดชอบการเก็บกลับและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจากครัวเรือน โดยมียอดการรีไซเคิลรวมสูงถึง 95% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fost Plus ประสบความสำเร็จในการออกแบบและพัฒนาวิธีการเพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกในครัวเรือนให้ได้ผลลัพธ์เพิ่มขึ้นอย่างมากจากเดิม 52% เป็น 61% ในปี 2565 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังสามารถจัดการกับวัสดุหลากหลายประเภท เช่น พลาสติก เหล็ก กล่องบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ​แก้ว กระดาษ กระดาษลัง กระดาษลูกฟูก ฯลฯ จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือโครงการ “ถุงสีน้ำเงิน (Blue Bag)” ซึ่งเป็นระบบช่วยคัดแยกวัสดุที่รีไซเคิลได้ผ่านหลักการใส่ถุงเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้กระบวนการนี้ไม่ยุ่งยากสำหรับครัวเรือน จึงนำไปสู่อัตรารีไซเคิลที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ​

“ถุงสีน้ำเงิน (Blue Bag) ได้ขยายประเภทจัดเก็บลงถุงอย่างต่อเนื่อง เน้นให้ครอบคลุมวัสดุทุกประเภท โดยล่าสุดอนุญาตให้ประชาชนนำแคปซูลกาแฟใช้แล้วรวบรวมลงถุงส่งกลับได้อีกด้วย ทำให้ได้รับวัสดุใช้แล้วนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอีก สร้างรายได้มากขึ้นจากการขายวัสดุใหม่ (sorted materials) อีกทั้งสามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบกลับสู่ระบบผลิตใหม่  ซึ่งช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือที่แข็งขันจากภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการค้าปลีก เราได้รับเงินสนับสนุนให้ลงทุนสร้างโรงงานคัดแยกเพื่อรีไซเคิลและโรงงานรีไซเคิลอย่างละ 5 โรงงาน ทำให้สามารถจัดการวัสดุเพื่อรีไซเคิลได้เพิ่มขึ้น”

อินโดนีเซียโมเดล สร้างงานเพิ่ม 1.5 แสนตำแหน่ง

อีกหนึ่ง PRO ที่โดดเด่นในแถบอาเซียน คือ IPRO จากอินโดนีเซีย หรือ Indonesia Packaging Recovery Organization องค์กร PRO แห่งเดียวในประเทศอินโดนีเซียที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 ปัจจุบันมีสมาชิก 18 ราย​ ร่วมผลักดันระบบ EPR ในภาคสมัครใจ ทำงานร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยคุณซุล มาร์ตินี อินดราวาติ ผู้จัดการทั่วไปจาก ​IPRO​  กล่าวว่า ​อินโดนีเซียเผชิญหน้ากับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย เนื่องจากระบบการจัดการและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดแคลน  ทั้งนี้อ้างอิงข้อมูลปี 2017 จากพันธมิตรการดำเนินการพลาสติกแห่งชาติอินโดนีเซีย (NPAP) ซึ่งระบุว่ามีขยะพลาสติกในประเทศสูงถึงประมาณ 6.8 ล้านตัน​

ทั้งนี้ IPRO มีพันธมิตร 16 องค์กรจากหลายจังหวัด และคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะมีการขยายไปทั่วทุกเกาะในอินโดนีเซีย IPRO พัฒนาการรวบรวมวัสดุสำหรับรีไซเคิล ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ สามารถเก็บกลับวัสดุ 6 ประเภท คือ พลาสติก PETE, PP, PE, HDPE, กล่องเครื่องดื่มยูเอชที, และ ถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่นถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ) ได้ประมาณ 15,000 ตัน

“IPRO สนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิลและผู้เก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วผ่านมาตรการจูงใจทางการเงิน การร่วมทุนเพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านการเก็บกลับและระบบการคัดแยก ควบคู่กับการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์เพื่อขับเคลื่อนให้ระบบการเก็บกลับ การคัดแยก และการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อันเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยนำขยะที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล การทำงานของ IPRO ยังคาดว่าจะช่วยสร้างงานราว 150,000 ตำแหน่ง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e)  IPRO จึงเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนซึ่งทำงานร่วมมือกับภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเก็บรวบรวมและรีไซเคิล การพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่บรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง”

ไทยเร่งศึกษา Best Practice นำมาปรับใช้  

คุณมยุรี อรุณวรานนท์ ผู้จัดการโครงการของ PRO-Thailand Network หรือเครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน  อธิบายถึงเส้นทางการเติบโตของ PRO-Thailand Network ซึ่งเป็น PRO ภาคสมัครใจ  ที่เล็งเห็นปัญหาใหญ่ระดับโลกเรื่องบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว  รวมทั้งขยะพลาสติกในชุมชนและการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ โดยเริ่มจากโครงการนำร่องในปี พ.ศ. 2563 เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อเข้าสู่กระบวนการ​​รีไซเคิล และดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงศึกษาหาแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว จากองค์กร PRO ในหลายประเทศ อาทิ เบลเยียม อเมริกา แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก โดยปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย  ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากพอ เช่น มีเครือข่ายการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่เข้มแข็ง เป็นต้น

PRO-Thailand Network จึงมีเป้าหมายที่สำคัญ คือเพิ่มการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้มากขึ้น การให้ความรู้กับประชาชน และการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเบื้องต้นนำร่องเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก PET กล่องเครื่องดื่มยูเอชที และถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน (เช่น ถุงขนม ถุงเติม ซองกาแฟ) ทำงานร่วมกับโรงคัดแยกขยะกว่า 300 แห่ง และโรงงาน รีไซเคิล 11 แห่ง นอกจากนี้ยังสนับสนุนกรมควบคุมมลพิษขับเคลื่อนนโยบาย EPR และพัฒนากฎหมายการจัดการ บรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนที่เหมาะสม และปฎิบัติได้จริงในบริบทของประเทศไทย

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์และมีความสนใจ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย EPR ในประเทศไทยไปกับ PRO-Thailand Network ได้ แน่นอนว่าการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วร่วมกัน ย่อมมีประสิทธิภาพสูงกว่าในด้านการบริหารจัดการต้นทุนและการดำเนินงาน อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่อง EPR และโมเดลของ PRO ที่สำคัญยังได้เตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรองรับกฎหมาย EPR  ดังนั้น การร่วมกันจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศอย่างยั่งยืน

นักวิชาการ -เรกกูเลเตอร์ ชี้ ‘ผู้ผลิต’ คือต้นทาง

ตัวแทนจากภาควิชาการผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย EPR  ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (Circular Economy for Waste-free Thailand – CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมมลพิษ ให้ยกร่าง พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า “ประเทศไทยเรียนรู้หลัก EPR มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จากการที่สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้นโยบายด้านการจัดการขยะจากเศษซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment หรือ WEEE) และทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้ศึกษาในระนาบต่าง ๆ เพื่อพัฒนาร่างกฎหมาย

สำหรับโมเดล​ EPR ถูกคิดค้นโดยนายโธมัส ชาวสวีเดน เมื่อปี 1992 มี 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น (Liability) ความรับผิดชอบด้านการเงิน (Financial Responsibility) การเพิ่มกิจกรรมทางกายภาพ (Physical Responsibility) และความรับผิดชอบด้านการสื่อสารข้อมูล (Informative Responsibility)

“สององค์ประกอบแรกข้างต้น มุ่งใ​ห้ผู้ผลิตเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ส่วนองค์ประกอบที่ 3 คือ การจัดตั้งจุดรับคืนซากผลิตภัณฑ์เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและสนับสนุนการคัดแยกได้ ส่วนความรับผิดชอบด้านการสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชน ถือเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบของผู้ผลิตและเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่นกัน จากองค์ประกอบของโมเดลนี้ จะเห็นได้ว่าความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและความรับผิดชอบด้านการเงินถือเป็นเสาหลักของการดำเนินงานของ PRO-Thailand Network โดยได้สนับสนุนให้ผู้ผลิตเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ซึ่งจากเดิมตกอยู่กับระบบการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาจต้องรับผิดชอบการจัดการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นและเกินกำลังที่ทางท้องถิ่นจะรับได้”

ด้านตัวแทนจากกรมควบคุมมลพิษ คุณธีราพร วิริวุฒิกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการกากของเสียและสารอันตราย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย ​ชี้ให้เห็นโอกาสการเพิ่มอัตราการเก็บกลับ จากข้อมูลการจัดการขยะปี พ.ศ. 2565 มีขยะเกิดขึ้นทั้งหมด 25.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็น ส่วนที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องประมาณ 40% ส่วนที่จัดการไม่ถูกต้อง 27% โดยมีส่วนที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียง 35%  ซึ่งในความเป็นจริงยังมีศักยภาพที่สามารถนำขยะเหล่านี้ไปสู่การจัดการอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ การดำเนินการโดยทางราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถเก็บรวบรวม ได้ 78% หรือ 20 ล้านตัน ก่อนจะถูกคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ 19% ในขณะที่อีก 59% หรือคิดเป็น 15.2 ล้านตัน ในจำนวนนี้ มี 21% ถูกส่งไปยังสถานที่กำจัดขยะที่จัดการไม่ถูกต้อง และขยะพลาสติกอีกประมาณ 28% ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แต่กลับต้องถูกทิ้งรวมไป เพราะข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานในการจัดการ และขีดความสามารถของท้องถิ่นที่ไม่เพียงพอ จึงส่งผลให้ขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นและสูญเสียมูลค่าของขยะ

“ผู้นำให้เกิดการสร้างความรับผิดชอบควรเริ่มต้นจากผู้ผลิต เนื่องจากผู้ผลิตทราบว่าตนเองผลิตอะไร และจะสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร โดยการลด การคัดแยก และการดึงกลับเข้าระบบ การลดการใช้สารอันตราย  การออกแบบที่ง่ายต่อการรีไซเคิล และนำมาสู่การขยายของ EPR โดยทาง คพ. ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งการทำ MOU กับองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึง PRO-Thailand Network และการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ โดยจุดประสงค์หลักคือการลดขยะทะเล และนำมาสู่การพัฒนากฎหมายในปัจจุบัน    แผนปฏิบัติการด้านการกำจัดขยะของประเทศฉบับที่ 2 ในปีนี้ มีบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเป็นเป้าหมายหลายชนิด ได้แก่ ขวดแก้ว กระดาษลัง อะลูมิเนียม กล่องเครื่องดื่ม และพลาสติก โดยในแผนนี้ระบุทั้งรูปแบบสมัครใจ และการบังคับใช้กฎหมาย เราส่งเสริมให้มีการทำแบบสมัครใจในภาคเอกชน ในกรณี PRO-Thailand Network เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คู่มือในการนำ EPR มาปฏิบัติ การรวบรวมฐานข้อมูล การสร้างแรงจูงใจในเชิงเศรษฐศาสตร์ การสร้างความตระหนักรู้ และการแลกเปลี่ยนเผยแพร่ข้อมูล”

ส่วนความคืบหน้าข้อกฏหมายด้าน EPR​ นั้น ขณะนี้ทางกรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการนำเสนอร่าง พ.ร.บ. การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ไปยังคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหากผ่านความเห็นชอบแล้ว จะถูกเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในหลักการ ก่อนส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และส่งให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติต่อไป  โดยปกติขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี จึงจะตราเป็นพระราชบัญญัติบังคับใช้

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีความตระหนักเรื่อง EPR สามารถติดต่อและหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: PRO-Thailand Network ที่ https://web.facebook.com/prothailandnetwork. หรือ สนใจฟังรายละเอียดการสัมมนาได้ที่ https://www.youtube.com/@PRO-ThailandNetwork

Stay Connected
Latest News