สายการบินญี่ปุ่น เร่งเครื่องลดคาร์บอน ANA นำร่องสายการบินแรกของโลก​ จัดซื้อเทคโนโนโลยีดักจับคาร์บอนโดยตรงจากอากาศ

สายการบิน ALL NIPPON AIRWAYS (ANA) ของญี่ปุ่น ​เป็นสายการบินแรกของโลกที่จัดซื้อคาร์บอนเครดิตด้วยเทคโนโลยี DAC (Direct Air Capture) หรือการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากอากาศ ภายในปี 2568 เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593

อุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศกำลังอยู่ในยุคที่การลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) กลายเป็นปัจจัยในการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน โดยเทคโนโลยี​ DAC ที่สามารดักจับ CO2 จากบรรยากาศโดยตรง​กำลังได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมการบิน โดย ANA คาดว่า ภายในปี  2593 ประมาณ 10% ของเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนจะมาจากการจัดซื้อด้วยเทคโนโลยีการปล่อยมลพิษเป็นลบสุทธิ หรือ NETs (Negative Emissions Technologies) ทั้งจากการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนและ DAC ขณะที่สัดส่วนหลักราว 80% มาจากการใช้น้ำมันอากาศยานยั่งยืน และอีก 20% จากการพัฒนานวัตกรรมและการปรับปรุงการปฏิบัติงานการบินต่างๆ

ทั้งนี้ ANA ได้วางแผนจัดซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท 1PointFive ซึ่งได้สร้างโรงงาน DAC แห่งแรกในเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568 เพื่อเร่งขับเคลื่อนสู่ Carbon neutrality ตามเป้าหมาย รวมทั้งยังมีแผนใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) ในสัดส่วนราว 10% ภายในปี 2573 เพื่อสอดคล้องกับข้อปฏิบัติของ ICAO (International Civil Aviation Organization) ที่ได้กำหนดให้ลดการปลดปล่อย CO2 ในอุตสาหกรรมการบินทั้งระยะกลาง (2578) และระยะยาว (2593) รวมทั้ง​ลดการปล่อยคาร์บอน 85% ภายในปี 2567 เป็นต้นไป เมื่อเทียบฐานจากปี 2562 ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2570 และหากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ก็จำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชย

สำหรับธุรกิจสายการบิน กุญแจสำคัญในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนคือ การใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) ซึ่ง ICAO คาดว่า เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนและเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2593 เป็นต้นไป โดยคาดว่าหลังจากปี 2573 สายการบินของประเทศพัฒนาแล้วจะต้องลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้น

ขณะที่​สหภาพยุโรป (EU) ได้ผลักดันนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมการบินแล้ว ตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงผสม SAF เพื่อใช้กับเครื่องบินที่ทำการบินในเขตพื้นที่ EU โดยกำหนดสัดส่วน​ SAF ที่ 2% ในปี 2568 และจะค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนต่อไป  โดยสายการบินในญี่ปุ่นทั้ง ANA และ JAL (Japan Airlines) ต่างก็มีแผนใช้เชื้อเพลิงอากาศยานที่มีส่วนผสมของ SAF ปริมาณ 10% ในปี 2573 ตามข้อบังคับของ EU

ด้าน Mitsubishi Research Institute กลุ่มงาน Sustainability ให้ข้อมูลว่า ประเทศที่มีนโยบายช่วยเหลืออย่างโดดเด่น คือ สหรัฐอเมริกา โดยรัฐบาลลดภาษีให้กับบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงที่ผสม SAF โดยลดภาษีสูงสุด 1.75 เหรียญสหรัฐต่อ 1 แกลอน ให้เงินช่วยเหลือกว่า 30,000 ล้านเยน (ประมาณ 7,400 ล้านบาท) สำหรับการลงทุนในโรงงานผลิต SAF นอกจากนี้ ยังสามารถจำหน่ายคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการลดคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตได้อีกด้วย และหากใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนและการช่วยเหลือเหล่านี้ ก็จะทำให้ราคา SAF ลดลงและเท่ากับราคาเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไปได้

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

NIKKEI ASIA

Stay Connected
Latest News