“ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” ร้านกาแฟกรีนดีไซน์จากวัสดุอัพไซเคิล ของโรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้นแบบการบริหารจัดการขยะแบบ ‘ทับสะแกโมเดล’ ที่สามารถลดปริมาณขยะจากเดือนละ 15 ตัน ให้เหลือเพียงแค่ 2 กิโลกรัม ภายใต้การขับเคลื่อน ‘โครงการต้นกล้าไร้ถัง’ เครือข่ายโรงเรียน CONNEXT ED ในการดูแลของซีพีออลล์
และยังถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะอีกหนึ่งฐานใหม่ล่าสุดของโรงเรียนแห่งนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ปลายทางของขยะต่างๆ ที่คัดแยกแล้วนั้น นำไปต่อยอดได้อย่างไร รวมทั้งช่วยสร้างความเข้าใจหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
เนื่องจากภายใน “ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” แห่งนี้ เป็นร้านกาแฟกรีนดีไซน์จากวัสดุรีไซเคิล-อัพไซเคิล อาทิ หลังคาจากกล่องนม โต๊ะเก้าอี้จากถุงนม เคาน์เตอร์ร้านจากเยื่อกระดาษ พร้อม Green Equipment และ Green Packaging ใช้วัสดุเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม-ภาชนะย่อยสลายได้ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนด้านการจัดการขยะ พร้อมทั้งช่วยสร้างรายได้- สร้างทักษะอาชีพกลับสู่โรงเรียนและชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถขยายผลทั้งในรูปแบบโมเดลกรีนคาเฟ่ กรีนทอยเล็ท หรือกรีนฟิลด์ ไปสู่โรงเรียนต่างๆ ได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ
พร้อมตอกย้ำความสำเร็จของการสร้างระบบนิเวศต้นกล้าไร้ถัง ที่สามารถช่วยทั้งการสร้างพฤติกรรมการแยกและบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางภายในโรงเรียน และสามารถต่อยอดไปสู่การดูแลแหล่งกำเนิดขยะรูปแบบอื่นๆ ทั้งในชุมชน โรงเรียน อาคารสำนักงาน หรือผู้ประกอบการต่างๆ ขณะเดียวกันยังสามารถยกระดับการเติบโตสู่การเป็น School Enterprise ในฐานะต้นแบบโรงเรียนที่สามารถหารายได้มาพัฒนาตัวเองได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน พร้อมช่วยบ่มเพาะทักษะอาชีพให้เด็กๆ ควบคู่กันไปด้วย
ศูนย์เรียนรู้ “ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก”
คุณยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ เปิดเผยว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมุ่งยกระดับคุณภาพการจัดการการศึกษาไทย ผ่านการสนับสนุนงบประมาณ องค์ความรู้ และเครื่องมือที่จำเป็นให้โรงเรียนภายใต้มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED จำนวนกว่า 563 โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโรงเรียนอนุบาลทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียนระดับท็อปที่โดดเด่นด้านการบูรณาการหลักสูตรการศึกษาเข้ากับการจัดการขยะในโรงเรียนภายใต้โครงการต้นกล้าไร้ถัง และสามารถต่อยอดสู่โครงการใหม่ “ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” เพื่อพัฒนาร้านกาแฟกรีนดีไซน์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิล-อัพไซเคิลในการออกแบบตกแต่งร้าน รวมถึงใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและภาชนะย่อยสลายได้
“ความสำเร็จของโครงการต้นกล้าไร้ถังของอนุบาลทับสะแก โดดเด่นมาก ในฐานะโมเดลที่สามารถลดปริมาณขยะจากเดือนละ 15 ตัน เหลือเพียง 2 กิโลกรัมต่อเดือน ด้วยองค์ความรู้ในการคัดแยกเพื่อลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง และสามารถสร้างรายได้จากการคัดแยกขยะ ทั้งการขายให้ผู้ที่มารับซื้อ รวมทั้งจากการเป็นศูนย์เรียนรู้ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาศึกษาดูงาน โดยมีความแข็งแกร่งจนปัจจุบันสามารถขยายผลไปสู่กว่า 750 โรงเรียนทั่วประเทศแล้ว รวมทั้งยังสามารถต่อยอดให้เห็นปลายทางของการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ในรูปแบบกรีนคาเฟ่รักษ์โลก เพื่อเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ ให้คนมองเห็นประโยชน์ของการจัดการขยะ การรีไซเคิล อัปไซเคิลได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังช่วยสร้างรายได้เข้าสู่โรงเรียนและชุมชน สามารถนำผลิตภัณฑ์มาวางขาย พร้อมช่วยเติมทักษะการเป็นผู้ประกอบการ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ครูและนักเรียนภายในโรงเรียนได้ย่างยั่งยืน” คุณยุทธศักดิ์ กล่าว
คุณตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก เป็นหนึ่งตัวอย่างโรงเรียนที่มีความพร้อมในการพัฒนาสู่ School Enterprise จากการต่อยอดโมเดลการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรภายในโรงเรียน และสามารถสร้างรายได้มาพัฒนาโรงเรียนได้เองอย่างต่อเนื่องผ่านศูนย์เรียนรู้ต่างๆ ภายในโรงเรียน รวมทั้งศูนย์เรียนรู้กรีนค่าเฟ่แห่งนี้ ซึ่งแม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนแต่ติดถนนใหญ่ใกล้ที่ว่าการอำเภอฯ และแหล่งชุมชน เพื่อสามารถให้บริการแก่คนทั่วไปได้ ซึ่งถือเป็นโลเกชั่นที่ดีในการทำธุรกิจ
ขณะที่ตัวร้านมีขนาดพื้นที่ประมาณ 72 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่โซนอินดอร์ ประมาณ 24 ตร.ม. และโซนเอาท์ดอร์ ประมาณ 48 ตร.ม. รวมทั้งคอนเซ็ปต์ในการก่อสร้าง ตกแต่ง และบริหารจัดการร้าน ที่พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับการเป็นศูนย์เรียนรู้ในเรื่อง Green Concept 5 ด้าน ได้แก่
1.Green Design การออกแบบร้านให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ให้ลมโกรกผ่านประตูหน้าต่างได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ พร้อมดีไซน์ประตูหน้าต่างเปิดมุมมองโดยรอบให้แสงสว่างส่องผ่านทั่วถึงลดการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างและใช้แสงจากธรรมชาติแทน
2.Green Material & Equipment การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลและอัพไซเคิลมากกว่า 30% เช่น หลังคาและกระเบื้องผนังทำจากการอัปไซเคิลกล่องนมยูเอชที เคาน์เตอร์ชงเครื่องดื่มที่ปูด้วยแผ่นไม้อัปไซเคิลจากเยื่อกระดาษ โต๊ะเก้าอี้จากกระดาษรีไซเคิล และถุงนมอัพไซเคิล พร้อมด้วยการใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ประหยัดไฟ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3.Green Food Good Taste ออกแบบเมนูที่ใส่ใจต่อสุขภาพ รสชาติดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย และมีเอกลักษณ์จากท้องถิ่น เช่น การนำมะพร้าว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาทำเป็นเมนูซิกเนเจอร์ ทั้งกลุ่มเบเกอรี่และเครื่องดื่ม อาทิ ชิฟฟ่อนมะพร้าว บ้าบิ่นมะพร้าว วาฟเฟิลมะพร้าว น้ำมะพร้าว คาเฟ่โคโค่นัทมิลค์ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่
4.Green Packaging เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ แก้ว จาน ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Compostable) ซึ่งภาชนะบางส่วนมาจากโรงเรียน CONNEXT ED ที่ดำเนินการผลิตภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สายคล้องหูหิ้วแก้วกาแฟจากต้นกก หลอดกระดาษ
5. Green People เปิดทางให้นักเรียนที่มีใจรักสิ่งแวดล้อม และผ่านหลักสูตรต้นกล้าไร้ถัง เข้ามามีโอกาสเรียนรู้ทักษะการบริหารร้านกาแฟทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ พร้อมทั้งช่วยเป็นกระบอกเสียง ส่งเสริมให้ร้านกาแฟกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการขยะ เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนอย่างมีไลฟ์สไตล์ และส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
“บริษัทได้เข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ และองค์ความรู้ในฐานะที่มีความเชี่ยวชาญการบริหารธุรกิจค้าปลีกที่มีมากกว่าแค่การขายสินค้าและบันทีกรายรับ รายจ่าย เพื่ออาสาเป็นพี่เลี้ยงในช่วงเริ่มต้น เพื่อให้โรงเรียนสามารถเข้าใจเรื่องการดูแลต้นทุน การคำนวณกำไร และการบริหารจัดการร้านทั้งในเรื่องของคน และสินค้า เพื่อให้ร้านสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนได้ในอนาคต รวมถึงได้เครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนในภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถังหลายรายเข้ามาช่วยสนับสนุน อาทิ ยูนิลีเวอร์, เอสไอจี คอมบลิบลอก, เทคแคร์โซลูชั่น, เอสซีจี เคมิคอลส์ และ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จนทำให้เกิดร้านกาแฟแฟล็กชิพแห่งแรกขึ้นได้ โดยในอนาคตมีเป้าหมายในการขยายผลออกอย่างน้อยภูมิภาคละ 1 แห่ง รวมถึงมีแนวคิดจะทำ Green Toilet และ Green Field กับโรงเรียนต่างๆ เพิ่มเติมด้วย” นายตรีเทพ กล่าว
เดินหน้าขยายเครือข่าย CONNEXT ED
สำหรับแนวทางการพัฒนาโรงเรียนในโครงการคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้การดูแลของซีพีออลล์นั้น ปัจจุบันบริษัทให้การดูแลโรงเรียนรวมกว่า 563 แห่ง และมีแผนให้การสนับสนุนต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นสนับสนุนใน 3 รูปแบบ คือ 1. การสนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนโครงการที่ทางโรงเรียนแต่ละแห่งนำมาเสนอ 2.การสนับสนุนโครงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมผ่านการปลูกป่า และบูรณาการการศึกษาเข้ากับธรรมชาติ และ 3.สนับสนุนโครงการด้านการบริหารจัดการขยะ หรือเครือข่ายโรงเรียนต้นกล้าไร้ถัง โดยทุกโครงการที่บริษัทเข้าไปสนับสนุน จะเน้นเป็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยเสริมทักษะใหม่ให้เด็กและครู เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน
“ทุกโครงการที่เราขับเคลื่อนจะเน้นให้เกิดการบูรณาการร่วมกันทั้งในโรงเรียน และสามารถต่อยอดมาสู่ชมุชน ทั้งโครงการปลูกป่า หรือการบริหารจัดการขยะ รวมทั้งการยกระดับพัฒนาหลักสูตรในกลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ด้วยการเติมทักษะที่จำเป็น และสามารถนำมาต่อยอดในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ โดยโรงเรียนในโครงการที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาได้ดีจะถูกยกขึ้นมาเป็น Best Practice เพื่อเป็นต้นแบบให้โรงเรียนอื่นๆ เรียนรู้เป็นแนวทาง พร้อมทั้งมีการเพิ่มระดับการพัฒนาตามความแข็งแรงของแต่ละโรงเรียนจาก Best Practice สู่ School Model และการเป็นโรงเรียนร่วมพัฒนาที่ทางบริษัทจะเข้าไปร่วมพัฒนาหลักสูตรกับทางโรงเรียน รวมทั้งการขยับสู่การเป็นโรงเรียนที่มีทักษะของผู้ประกอบการ หรือ School Enterprise ซึ่งมีความแข็งแกร่งในการสร้างรายได้สำหรับพัฒนาโรงเรียนและชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่สามารถพัฒนาจนถึงระดับ School Enterprise ได้แล้วจำนวน 12 แห่ง” คุณตรีเทพ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 47 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนโครงการตามปณิธานองค์กร “Giving & Sharing” วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED พร้อมทั้งร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด