Krungthai COMPASS เผยผลศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลงานด้าน ESG ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง โดยมีคะแนน ESG เฉลี่ย 38 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยส่วนใหญ่ถึง 59% มีคะแนนต่ำกว่า 30 คะแนน ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Low ESG จากการวิเคราะห์โดย S&P Global สำรวจครอบคลุม 148 บริษัท คิดเป็น 83% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
ทั้งนี้ พบว่า บริษัทที่มีคะแนน ESG สูงมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ (Market Cap.) สูง โดยพบว่ามีบริษัทจำนวน 28% เท่านั้น ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม High ESG แต่มีมูลค่า Market Cap. รวมกันมากถึง 76%
นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศจะมีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดีกว่า เพราะความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยมีคะแนน ESG เฉลี่ย 44 คะแนน และมีสัดส่วนบริษัทในกลุ่ม High ESG ราว 35% เทียบกับบริษัทที่มีรายได้เฉพาะในประเทศ ที่มีคะแนนเฉลี่ย 23 คะแนน และมีสัดส่วนบริษัทกลุ่ม High ESG เพียง 9% แต่มีสัดส่วนกลุ่ม Low ESG สูงถึง 84%
แต่ในทางกลับกันก็มีบริษัทไทยจำนวนไม่น้อยที่สามารถเป็นผู้นำในด้าน ESG และมีศักยภาพทัดเทียมกับยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่มีคะแนน ESG เฉลี่ย 85 คะแนน จัดอยู่ในกลุ่ม High ESG เนื่องมาจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ในระดับสูง จึงทำให้ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวและขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ผลการศึกษาครั้งนี้ ยังสรุปให้เห็นว่า ESG มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยพบว่า บริษัทที่มีคะแนน ESG ดี มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้สูงกว่า โดยในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2565) บริษัทที่มี คะแนนอยู่ในกลุ่ม High ESG มีการเติบโตของรายได้โดยเฉลี่ย 10.5% ต่อปี รองลงมาคือกลุ่ม Medium ESG มีการเติบโตโดยเฉลี่ย 9% ต่อปี ขณะที่บริษัทในกลุ่ม Low ESG มีการเติบโตเฉลี่ย1.6% ต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทที่มีคะแนน ESG ดี มีแนวโน้มที่จะรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่า สะท้อนจากความผันผวนของอัตราผลตอบแทน จากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity หรือ ROE) โดยบริษัทที่มีคะแนน ESG อยู่ในกลุ่ม Low ESG มีความผันผวนของ ROE สูงกว่าบริษัทที่มี คะแนนในกลุ่ม High ESG และ Medium ESG อย่างชัดเจน
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งพัฒนาการดำเนินงานด้าน ESG ในทุกมิติโดยขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญและทัดเทียมกับคู่แข่งในตลาดเดียวกัน โดยเฉพาะ 1) ธุรกิจระหว่างประเทศ รวมถึงธุรกิจที่อยู่ใน Supply Chain 2) ธุรกิจที่มีคะแนน ESG ต่ำ ขณะที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ในระดับปานกลางถึงสูง เช่น ธุรกิจการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ประกัน ก่อสร้าง วัสดุการพิมพ์ และเครื่องจักร อุตสาหกรรม
รวมไปถึงการให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างครอบคลุม ถูกต้อง โปร่งใส ขณะที่ที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการเพื่อยกระดับการดำเนินงานด้าน ESG ของผู้ประกอบการไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้กลายมาเป็นความเสี่ยงในการฉุดรั้งการเติบโตของหลายธุรกิจได้ในอนาคต