อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เร่งขับเคลื่อน Vision 2030 เพื่อต่อยอดความเป็นผู้นำในฐานะบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Environment, Social, and Governance: ESG) โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มการรีไซเคิลขวด PET ให้ได้ปีละ 5 หมื่นล้านขวดในอีก 2 ปี ข้างหน้า และเพิ่มเป็นปีละ 1 แสนล้านขวด ภายในปี 2030 ภายใต้งบลงทุนโดยรวมกว่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
คุณแอนโทนี วาตานาเบ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า บริษัทมีแผนเพิ่มโรงงานรีไซเคิลขวด PET แห่งใหม่ในประเทศไทย ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นอีกหนึ่งฐานในการขยายกำลังผลิตขวดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) ให้ได้ 1 แสนล้านขวดต่อปี ตามวิสัยทัศน์ 2030 จากกำลังผลิตโดยรวมจาก 148 โรงงาน ใน 35 ประเทศ มีรวมกันมากกว่า 3.3 หมื่นล้านขวดต่อปี โดยเบื้องต้นจะเพิ่มให้ได้เป็น 5 หมื่นล้านขวดในอีก 2 ปีข้างหน้านี้
สำหรับการขยายโรงงานรีไซเคิลแห่งใหม่ในประเทศไทยคร้ังนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุนจากการสนับสนุนสินเชื่อสีน้ำเงิน หรือ Blue Loan ที่อินโดรามาฯ ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อระยะยาวจากหลากหลายสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกในหลายประเทศ โดยตามแผนจะเดินหน้าลงทุนโรงงานรีไซเคิลเพิ่มเติมจำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย 1 แห่ง ในบราซิล ซึ่งได้เปิดสายการผลิตไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่อีก 4 โรงงาน จะอยู่ในเอเชีย โดยก่อนหน้าได้เปิดโรงงาน PetValue ในฟิลิปปินส์ รวมทั้งโรงงานที่สระบุรีซึ่งเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทย ที่เตรียมเดินหน้าก่อสร้างเร็วๆ นี้ เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีโรงงานหนึ่งแห่งในนครปฐม ซึ่งเริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี 2014
ทั้งนี้ นอกจากการเดินหน้าขยายโรงงานรีไซเคิลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องแล้ว อินโดรามาฯ ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการรีไซเคิล เช่น การลงทุนในการรีไซเคิลขั้นสูง (advanced recycling) เพิ่มเติมจากการขยายโรงงานของบริษัทฯ ทั่วโลก รวมทั้งพัฒนาวัตถุดิบตั้งต้นจากชีวภาพ และการร่วมมือกับสตาร์ทอัพด้านความยั่งยืนหลากหลายแห่ง เช่น นวัตกรรมการรีไซเคิลด้วยเอนไซม์ ร่วมกับบริษัท Carbios การนำเสนอเทคโนโลยีไบโอทรานส์ฟอร์เมชั่น ร่วมกับบริษัท Polymateria และการบุกเบิกเทคโนโลยีผลิต bio-PTA และ bio-PET ร่วมกับบริษัท Origin Materials เป็นต้น ซึ่งในอนาคตหากเทคโนโลยีเหล่านี้มีความมั่นคงมากขึ้นก็มีแผนจะขยายมาใช้ในประเทศไทยในอนาคตด้วยเช่นกัน
เตรียมลอนช์บรรจุภัณฑ์ rPET ในไทยปีหน้า
สำหรับความคืบหน้าการผลิตบรรจุภัณฑ์ rPET ในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้ในปีหน้า โดยยังอยู่ในกระบวนการด้านเอกสารร่วมกับทาง อย.ประเทศไทย แต่บริษัทมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีมานานแล้ว แต่ติดเรื่องข้อกฏหมายของทางประเทศไทย ซึ่งหลังจากปลดล็อกก็ได้รีบดำเนินการตามระบบ คาดว่าในปีหน้าจะเริ่มให้บริการลูกค้าสำหรับทำตลาดในประเทศไทยได้ทันที
“ในฐานะผู้นำด้านการผลิตเม็ดพลาสติก PET รายใหญ่ของโลก ที่มีแชร์กว่า 20% รวมทั้งในกลุ่ม PET รีไซเคิล ที่ทำตลาดแล้วในหลายประเทศทั้งยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมของฐานการผลิตที่มีอยู่ทั่วโลก เช่นเดียวกับโรงงานในนครปฐมที่มีความพร้อมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ rPET มานานแล้วเช่นกัน โดยสามารถผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มให้ลูกค้าเพื่อส่งออกไปทำตลาดในต่างประเทศได้แล้ว ส่วนในประเทศไทย มีการรีไซเคิลพลาสติก rPET เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์กลุ่มอื่นๆ เช่น เส้นใยไฟเบอร์ เพียงแต่ยังไม่ได้นำมาใช้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งหากสามารถจัดการเรื่องเอกสารได้เรียบร้อยก็คาดว่าจะเริ่มทำตลาดในประเทศไทยได้”
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดของระบบการรีไซเคิลอยู่ที่ความสามารถในการเก็บบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคกลับเข้าระบบ เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ต้องใช้รีไซเคิล แม้จะขยายกำลังผลิตเพิ่มเติมอย่างไร แต่หากไม่สามารถเก็บบรรจุภัณฑ์กลับได้ก็ไม่สามารถทำการรีไซเคิลได้ บริษัทจึงได้เดินหน้ารณรงค์โปรแกรมเพื่อเพิ่มอัตราการเก็บกลับ เช่น Waste Hero ซึ่งเริ่มต้นในประเทศไทย และได้ขยายโปรเจ็กต์ไปสู่ระดับภูมิภาค เพื่อให้ความรู้เยาวชนและคนทั่วไปเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเก็บกลับ PET ในระดับสูง โดยมีอัตราเก็บกลับถึง 80% จากค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ราว 60% ขณะที่อเมริกามีเพียง 25% เท่านั้น
นอกจากนี้ ในบางประเทศยังมีการสนับสนุนระบบมัดจำขวด และขับเคลื่อนมาตรการความรับผิดชอบในการเก็บกลับของผู้ผลิตหรือ EPR เพิ่มเติมด้วย ซึ่งเชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ดูแลขับเคลื่อนด้านนโยบายมาช่วยกำกับดูแล จะช่วยเพิ่มอัตราเก็บกลับในภาพรวมให้สูงขึ้นได้
ด้านผลประกอบการของบริษัทในปีที่ผ่านมา มีรายได้รวมกว่า 18,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสัดส่วนหลักราว 60% มาจากกลุ่ม Combine PET หรือการผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติก ส่วนอีก 40% มาจากกลุ่มเส้นใยไฟเบอร์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและสารอนุพันธ์ต่างๆ (IOD) ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ซึ่งทุกกลุ่มมีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการรีไซเคิล หรือกลุ่มธุรกิจต้นน้ำที่จะมีเทรนด์ใหม่ๆ มาช่วยผลักดันตลาด รวมทั้งในกลุ่มเส้นใยที่เป็นวัตถุดิบหลักการผลิตถุงลมและเข็มขัดนิรภัย รวมทั้งยางรถยนต์ ซึ่งมีโอกาสเติบโตตามการขยายตัวของตลาดรถยนต์ทั่วโลกเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันอินโดรามาฯ เป็นผู้นำในทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจที่ทำตลาด โดยพบว่า ธุรกิจขวดพลาสติกทั่วโลก 1 ใน 5 ใช้เม็ดพลาสติกจากอินโดรามาฯ 1 ใน 2 ของผ้าอ้อมเกรดพรีเมียมทั่วโลก ใช้เส้นใยของอินโดรามาฯ 1ใน 4 ของผู้ผลิตยางรถยนต์ทั่วโลกใช้เส้นใยของอินโดรามาฯ มาทอเป็นยางรถยนต์ รวมทั้ง 1 ใน 4 ของตลาดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในสหรัฐอเมริกา ก็ใช้สารตั้งต้นมาจากกลุ่มธุรกิจ IOD ของอินโดรามา เวนเจอร์สด้วยเช่นเดียวกัน