โรงงานนิชิเซ็นโก (Nishisenko) เมืองอิมาบาริ จังหวัดเอฮิเมะ ถือว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าขนหนูชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์อิมาบาริ (Imabari) ซึ่งในกระบวนการผลิตผ้าขนหนูวันละหลายพันผืนนั้น ส่งผลให้เกิดฝุ่นจากขุยผ้าที่ต้องนำไปกำจัดทิ้งเป็นจำนวนมาก
ซึ่งฝุ่นเหล่านี้หากไม่บริหารจัดการให้ดี นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงานในโรงงานแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งปัญหาการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และทำให้เกิดไฟไหม้ในโรงงานได้
ทางโรงงานจึงแก้ปัญหาด้วยการต่อยอดจากขุยผ้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตและกลายเป็นขยะที่ต้องนำไปกำจัดมาทำเป็นเชื้อไฟ สำหรับจุดไฟในเตาแคมปิ้ง ซึ่งกำลังเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น
คุณฟุกุโอกะ โทโมนาริ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ โรงงานนิชิเซนโก โรงงานย้อมผ้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าขนหนูและผ้าอเนกประสงค์ต่างๆ และยังเป็นนักตั้งแคมป์ตัวยง ผู้คิดค้นไอเดียต่อยอดฝุ่นจากขุยผ้าขนหนูอิมาบาริซึ่งเป็นผ้าฝ้าย 100% และมีคุณสมบัติในการติดไฟได้ดี มาเป็นหัวเชื้อสำหรับก่อไฟ แทนการใช้เชือกป่านที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้เป็นเชื้อไฟในการจุดเตาแคมปิ้งกันก่อนหน้านี้
“แต่ละวันโรงงานต้องทำการย้อมและอบผ้าขนหนูมากกว่า 3,000 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้พนักงานต้องทำความสะอาดตัวกรองฝุ่นของเครื่องอบผ้า วันละ 6-7 คร้ัง และเกิดขยะจากขุยผ้าที่ติดอยู่กับตัวกรองเก็บใส่ถุงไว้เพื่อเตรียมทิ้งเป็นจำนวนมาก จึงได้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้โรงงาน ด้วยการผลิตเป็น ‘ฝุ่นอิมาบาริ’ (Imabari Dust) ภายใต้แบรนด์ THE MAGIC HOUR ซึ่งเป็นแบรนด์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กลางแจ้งของนิชิเซ็นโก โดยเริ่มผลิตมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปีที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยมี 2 ขนาด คือ 1 ชิ้น บรรจุ 40 กรัม ราคา 660 เยน และแบบรีฟิล 40 กรัม ราคา 330 เยน”
โดยฝุ่นอิมาบาริ 10 กรัม จะสามารถติดไฟต่อเนื่องได้ถึง 5 นาที และยังมีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ก่อไฟชนิดอื่นๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดขี้เถ้าหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ ประกอบกับการผลิตมาจากขุยผ้าที่ผ่านกระบวนการย้อมมาแล้ว ทำให้มีสีสันสดใส ซึ่งเวลานำผ้าที่นำเข้าเครื่องอบจะทำการแยกสี ทำให้ได้ขุยผ้าสีเดียวกันทั้งหมด และมีหลากหลายสี ทำให้สามารถนำมาดีไซน์เป็นหลากหลายสีสันขณะเมื่อนำมาใส่บรรจุภัณฑ์ ช่วยเพิ่มความสะดุดตา และดูน่ารัก น่าใช้งานมากขึ้นด้วย
สำหรับแบรนด์ THE MAGIC HOUR โดยโรงงานนิชิเซ็นโกนั้น ยังถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดำเนินกระบวนการตามแนวทางการผลิตอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตที่ประหยัดการใช้พลังงานและลดขยะในกระบวนการผลิต โดยช่างย้อมและเย็บที่มีทักษะ พร้อมให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานอย่างเท่าเทียม เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนตามกรอบ SDGs