ดร.กอบศักดิ์ แนะ 3 ทางรอด ธุรกิจเพื่อสังคม เปลี่ยน Passion ให้ทำเงินได้ เพื่อช่วยสร้าง Social Impact ได้ต่อเนื่องและยั่งยืน ด้านตลาดหลักทรัพย์ เปิดเวที Pitching Day เสนอไอเดีย สร้างโอกาสขยายสเกลธุรกิจ ในวันปิดโครงการ SET Social Impact GYM 2023 ซึ่งตลอด 7 ปี ปั้นธุรกิจออไปสร้างผลลัพธ์ให้สังคมได้แล้ว 80 ราย
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวในโอกาสวัน Pitching Day พร้อมปิดโครงการ SET Social Impact GYM 2023 : Idea-to-Idone เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม หรือ SE (Social Enterprise) เติบโตเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้อย่างแข็งแกร่งและมีความยั่งยืน โดยมองว่า ปัญหาหลักของธุรกิจเพื่อสังคมคือ การสร้างให้เกิดความยั่งยืนให้ธุรกิจ เพราะหลายโมเดลที่ขับเคลื่อนเพื่อสังคม เช่น โครงการ CSR มูลนิธิ หรือสมาคมต่างๆ มักต้องพึ่งพาการระดมทุน หรือการรับบริจาคจากภาคส่วนต่างๆ ทำให้ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ เพราะหากคิดเพียงแค่หาเงินมาดำเนินโครงการ แต่ไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ก็ยากที่สร้างการเติบโตในระยะยาวได้
“ทุกคนมี Passion ที่อยากขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ให้สังคม แต่สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ Passion เหล่านั้นกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้ การหาเงินจากการบริจาค หรือรอให้คนมาสนับสนุนเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ เพราะเมื่อเงินหมดก็ต้องหาผู้สนับสนุนรายใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ยั่งยืน ดังน้ัน รูปแบบ Social Enterprise (SE) ด้วยการเริ่มต้นโปรเจ็กต์ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดี หรือแก้ปัญหาให้สังคมด้วยเงินตั้งต้นที่ไม่ต้องสูง และสามารถขับเคลื่อนผ่านการแก้ Painpoint หรือปัญหาบางอย่างให้สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีดีมานด์อยู่ในสังคม จะทำให้ธุรกิจสามารถเลี้ยงตัวเองและเติบโตไปข้างหน้าได้ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือผู้คนและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการระดมทุนเพียงไม่กี่ครั้งในช่วงเริ่มต้น ก็สามารถทำให้เมล็ดพันธุ์ธุรกิจเติบโตเป็นไม้ยืนต้นที่แข็งแรงและออกดอกออกผลได้อย่างต่อเนื่อง เป็นโมเดลที่ทำให้เกิด Sustainability ไปในพื้นที่ต่างๆ ได้ทั่วโลก”
ทั้งนี้ แม้จะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่อย่างไรก็ยังเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโต ซึ่งยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ที่ต้องอาศัยความรู้ และทักษะหลากหลายด้าน ทั้งการพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นสินค้าที่คนยอมจ่ายในราคาที่เหมาะสม เพื่อสามารถสร้างรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจได้ ขณะเดียวกันยังต้องมีทักษะในเรื่องของการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน ทั้งความเข้าใจเรื่องของบัญชี การจัดการภาษี การควบคุมและบริหารจัดการต้นทุน กระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพ การเข้าถึงสินเชื่อ รวมไปถึงการบริหารจัดการคน ดังนั้น หากธุรกิจในกลุ่ม SE อยากเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง จำเป็นต้องมี 3 ปัจจัยต่อไปนี้
1. Agility : ความคล่องตัวในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์ ความต้องการของตลาดตามความเป็นจริง แม้ธุรกิจอาจเริ่มต้นด้วยการนำเสนอโปรดักต์อย่างหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการก็ต้องสามารถนำเสนอแง่มุมใหม่ๆ ได้ เพราะการทำเพื่อสังคมมีหลายมิติ หากสิ่งที่เสนอมีความต้องการน้อย ไม่ต่างกับการจับปลาในบ่อที่ไม่มีปลาก็จำเป็นต้องย้ายบ่อใหม่ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้เพื่อมาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้ขับเคลื่อนต่อ และยังคงสามารถช่วยเหลือสังคมได้ต่อไป
2. Detail : การใส่ใจรายละเอียดนำมาซึ่งความสำเร็จ การทำธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจแต่ละมิติของธุรกิจได้อย่างละเอียด เพื่อสามารถต่อยอดเรียนรู้ และนำมาปรับให้เข้ากับแนวคิดของตนได้ โดยเฉพาะเมื่ออยากขยายสเกลธุรกิจ แบบ 5X 10X ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง และอาจต้องอาศัยเรียนรู้จากไอเดีย องค์ความรู้ รวมถึงจากความสำเร็จ และความล้มเหลว ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทในแบบของตัวเอง เพื่อช่วยลดโอกาสในการผิดพลาดของตัวเอง และเพิ่มโอกาสให้สามารถประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
3. Branding : เมื่อทำธุรกิจจำเป็นต้องมองเรื่องของการสร้างแบรนด์ตั้งแต่วันแรก เพื่อทำให้คนรู้จักและสามารถจดจำเราได้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากในช่วงแรก แต่หากสามารถสร้างภาพจำ หรือทำให้คนนึกถึงแบรนด์ของเรา เมื่อพูดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ สุดท้ายจะสามารถต่อยอดและขยายการรับรู้ออกไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น เรื่องของแบรนดิ้งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
SET คาดหลังบ่มเพาะ ยอดขาย SE จะโตเพิ่ม 5 เท่า
ด้าน คุณนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กล่าวถึงการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ Social Enterprise ของ SET ผ่านการขับเคลื่อนโครงการ SET Social Impact GYM 2023 : Idea-to-Idone ภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA) ซึ่งขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2559 หรือกว่า 7 ปีแล้ว โดยสามารถสร้างผู้ประกอบการ SE จากโครงการได้มากกว่า 80 ราย โดยสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในมิติต่างๆ ซึ่ง 40% คือ ด้านของการพัฒนาชุมชนและสังคม ส่วน 60% จะเป็นด้านสุขภาพ ด้านผู้เปราะบาง ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา พร้อมต่อยอดความร่วมมือให้เกิด Social Business Co-creation ระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคมในการแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกัน
“สำหรับโครงการในปีนี้ มีผู้ประกอบการ SE เข้าร่วม 8 ราย ครอบคลุมการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม 4 ด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เปราะบาง การพัฒนาชุมชน และด้านการเกษตร โดยได้รับความร่วมมือจากโค้ชจิตอาสาที่เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจดทะเบียนใน maiA จำนวน 22 ท่าน มาร่วมให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อร่วมพัฒนาโมเดลธุรกิจ SE ให้มีรูปแบบขับเคลื่อนที่ชัดเจน และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า รวมทั้งมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าบริษัทที่ดำเนินการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างชัดเจนได้แล้ว จะสามารถเพิ่มยอดขายให้เติบโตได้เพิ่มมากขึ้นกว่า 5 เท่า ส่วนบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นมีไอเดียทางธุรกิจ จะสามารถนำเสนอสินค้าและบริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในต้นปีหน้า และจะสามารถสร้างผลกำไรได้ภายใน 2 ปี”