ยูนิโคล่ ประเทศไทย ประกาศขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน สอดคล้องภาพใหญ่ของบริษัทแม่อย่างฟาสต์ รีเทลลิ่ง ตามแนวคิด LifeWear (ไลฟ์แวร์) ผ่านการออกแบบและผลิตเสื้อผ้าที่ช่วยให้ทุกคนสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
พร้อมตอกย้ำพันธกิจ ‘ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า’ ใน 2 มิติ ประกอบด้วย 1. การผลิตเสื้อผ้าที่ดีต่อโลก และไม่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม และ 2. การผลิตเสื้อผ้าที่ดีต่อผู้คนและสังคม
ทั้งนี้ ตลอดทั้ง Supply Chain ในการผลิตเสื้อผ้าของยูนิโคล่ จะให้ความสำคัญกับการผลิตเสื้อผ้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้มีเสื้อผ้าเหลือค้างอยู่ในระบบหรือกลายเป็นขยะฝังกลบ ตั้งแต่การศึกษารูปแบบ และปริมาณการผลิตที่สอดคล้องกับดีมานด์ของผู้บริโภคในตลาด รวมไปถึงการขนส่ง การบริหารจัดการการขาย รวมทั้งการดูแลจัดการหลังการขาย เพื่อไม่ให้สร้างขยะเพิ่มมากขึ้น
ยูนิโคล่ยังได้ฉายภาพเป้าหมายที่ต้องการบรรลุให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2030 รวมทั้งสิ่งที่สามารถขับเคลื่อนได้แล้วในขณะนี้ ประกอบด้วย
– ลดการสร้าง CO2 จากการดำเนินงานของบริษัทลง 90% และจากซัพพลายเชนทั้งระบบ 20% ภายในปีงบประมาณ 2030 ซึ่งภายในปีงบประมาณ 2022 สามารถลด CO2 จากการดำเนินงานของบริษัทลงได้แล้ว 45.7% และจากซัพพลายเชน 6.2%
– การพัฒนานวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้วัสดุ PET รีไซเคิลมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัท รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเสื้อผ้าให้เป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อมมากขึ้น เช่น นวัตกรรม Bluecycle ในกลุ่มกางเกงยีนส์ ที่ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ถึง 99% โดยปัจจุบันยูนิโคล่มีสัดส่วนการใช้วัสดุ Eco-friendly มาใช้ในการผลิตที่ประมาณ 5% และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนให้ได้ถึง 50% ของกำลังผลิตท้ังหมด
– การขับเคลื่อนนโยบาย RE.UNIQLO เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้งานเสื้อผ้าได้อย่างยาวนานและคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งดำเนินการนำเสื้อผ้ากลับมารีไซเคิลผลิตเป็นสินค้าใหม่ เพื่อไม่ต้องการให้มีเสื้อผ้าของยูนิโคล่กลายเป็นขยะไปสู่หลุมฝังกลบ รวมท้ังการเปิด RE.UNIQLO STUDIO ภายใต้คอนเซปต์ Repair/Remake/ Reuse/Recycle เพื่อนำเสื้อผ้ากลับมาซ่อมแซมเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำเทคนิคการตัดเย็บด้วยมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น หรือ ที่เรียกว่า Sashiko มาให้บริการด้วยเพื่อเป็นการต่ออายุการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดให้บริการทั่วโลกแล้วมากกว่า 30 แห่ง และได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะในแถบยุโรปที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนอย่างมาก
พร้อมทั้งเตรียมเปิดบริการ RE.UNIQLO STUDIO แห่งแรกของประเทศไทยในวันที่ 28 กันยายน 2566 นี้ ที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นยูนิโคล่สาขาแรกในประเทศไทยและถือเป็นสาขาที่มีความสำคัญสำหรับยูนิโคล่อย่างมาก โดยยูนิโคล่จะทำการศึกษาพฤติกรรมและดีมานด์ผู้บริโภคคนไทยเพื่อพิจารณาในการขยายสาขา RE.Uniqlo Studio ในประเทศไทยเพิ่มเติมต่อเนื่องในอนาคต
ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ขับเคลื่อนผ่านโรดแม็พ 3 ปี
นอกจากสานต่อแนวทางตามแผนความยั่งยืนของบริษัทแม่แล้ว ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ยังได้วางเป้าหมายระยะกลางเพิ่มเติม เพื่อขับเคลื่อนในช่วง 3 ปี (2566 -2568) โดยมีเป้าหมายการเป็น “บริษัทร่วมทุนที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย” เน้นขับเคลื่อนความยั่งยืนตามกรอบ SDG ในข้อ 3 ,14 และ 15 เพื่อตอกย้ำความสำคัญในการเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน และการดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเล
มร. โยชิทาเกะ วาคากุวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยูนิโคล่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเพื่อดูแลผู้คน สังคม และโลก ทั้งในฐานะ Global Citizen และการขับเคลื่อนภายในประเทศไทย โดยหนึ่งในความมุ่งมั่นสำคัญในปีนี้ของยูนิโคล่ (ประเทศไทย) คือ การขับเคลื่อนโครงการ RE.UNIQLO จากการเล็งเห็นปัญหาและต้องการช่วยเหลือสังคมไทย ในเรื่องของจำนวนเสื้อผ้าที่กลายเป็นขยะฝังกลบ ซึ่งนอกจากเตรียมเปิดให้บริการ RE.UNIQLO STUDIO แห่งแรกของประเทศไทยแล้ว ยังมีแคมเปญรวบรวมเสื้อผ้ากันหนาว จำนวน 50,000 ชิ้น เพื่อส่งมอบให้ผู้ขาดแคลนเสื้อผ้ากันหนาวโดยเฉพาะผู้ประสบภัยหนาวทางภาคเหนือ ซึ่งในช่วงหน้าหนาวจะมีอากาศบนดอยหนาวเย็นกว่าปกติ
“สำหรับปี 2566 กิจกรรม RE.UNIQLO ตั้งเป้าหมายที่จะส่งต่อเสื้อผ้ากันหนาวจำนวน 50,000 ชิ้น ผ่านองค์กรพันธมิตรต่างๆ ภายในเดือน ธันวาคม 2566 จึงอยากจะเชิญชวนลูกค้าของยูนิโคล่ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชาวไทยด้วยกันในครั้งนี้ เพื่อมอบน้ำใจและความอบอุ่น เพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังมีพันธมิตรที่ช่วยนำส่งความอบอุ่นให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวจาก 3 องค์กร อย่างมูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิบ้านร่มไทร และ UNHCR ที่จะเป็นตัวแทนส่งมอบเสื้อหนาวที่ได้รับการบริจาคจากยูนิโคล่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 อีกด้วย โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการ UNIQLO Recycling Clothes Donation ในปี 2558 ปัจจุบัน ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ได้ส่งต่อเสื้อผ้าที่ได้รวบรวมจากลูกค้าทั่วประเทศเพื่อส่งมอบให้องค์กรพันธมิตรต่างๆ ในระดับท้องถิ่นได้แล้วมากกว่า 194,273 ชิ้น ”
นอกจากนี้ ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) ยังมีการขับเคลื่อนด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ดังนี้
– การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (IREC) ทั้งร้านสาขา และ สำนักงานใหญ่
– การช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น การบริจาคเสื้อผ้าและของใช้จำเป็นสำหรับเหตุการณ์น้ำท่วม ที่จ.อุบล ในปี 2565 เหตุการณ์โกดังเก็บพลุระเบิดที่ อ. สุไหงโก-ลก จ. นราธิวาส และ การบริจาคหน้ากากอนามัยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา
– สนับสนุนกิจกรรมการแข่งขันการเก็บขยะ SPOGOMI World Cup
– UNIQLO Recycling Clothes Donation ภายใต้โครงการ RE.UNIQLO
– แผนงานความร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดภาวะโลกร้อนกจากก๊าซเรือนกระจก
– เพิ่มสัดส่วนการผลิตสินค้าด้วยวัสดุที่ยั่งยืน