ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สำหรับงานสัมมนาความยั่งยืนแนวใหม่! Sustrends 2024 งานที่นำเสนอ 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก ผ่าน 20 วิทยากรด้านความยั่งยืนตัวจริงจาก 10 วงการในเวทีเดียว
เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และเทรนด์ต่าง ๆ ด้วยการสรุปเนื้อหาให้สั้นกระชับเข้าใจง่าย สนุกสนาน และจัดงานด้วยความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อช่วยให้การทำงานด้านความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงเทรนด์ แต่ทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งจะได้พบกับ Sustrends 2025ในปีหน้าอย่างแน่นอน
นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหาร The Cloud และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Cloud & Ground จำกัด ผู้จัดงาน Sustrends 2024 กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจมากที่งาน Sustrends 2024 มีกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากทุกภาคส่วน ทั้งการรวมวิทยาการจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ ประชาสังคม และเยาวชนไว้บนเวทีเดียวกัน ผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน ก็เป็นคนในวงการที่สนใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง จนเหมือนงานนี้เป็นงานรวมญาติของคนในวงการความยั่งยืน แม้ว่าอากาศจะร้อนไปบ้าง เพราะเราตั้งใจจัดงานโดยสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด จึงเลือกจัดในอาคารที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดก็มาจากโซลาร์เซลล์ คาร์บอนจากการเดินทางของผู้เข้าร่วมงาน เราชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต และจากความสำเร็จของการจัดงานในครั้งนี้ ช่วยตอกย้ำความคิดตั้งแต่วันแรกที่คิดโครงการนี้ ว่าอยากเป็นงานสัมมนาด้านความยั่งยืนที่จัดขึ้นทุกปี ดังนั้น ในปีหน้าจะได้พบกับ Sustrends 2025 อย่างแน่นอน”
ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ปรับมุมคิดและเปลี่ยนวิธีการใหม่
ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการโครงการ SDG Move มองว่า การจะบรรลุ SDGs (Sustainable Development Goals) ได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน และไม่เร่งทำสิ่งเดิมให้เร็วขึ้น แต่ต้องพลิกโฉมสิ่งที่ทำอยู่ เปลี่ยนไปใช้วิธีการใหม่ ๆ เน้นทำงานแบบบูรณาการ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพราะในขณะที่เป้าหมายหนึ่งเคลื่อนไปข้างหน้า อาจดึงเป้าหมายอื่นให้ถอยหลัง สิ่งสำคัญคือ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด มองเรื่อง SDGs ใหม่ พร้อมปรับตัว ปรับใจ และปรับวิธีการทำงาน ซึ่ง 5 ประเด็นที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกันขับเคลื่อนทางด้านความยั่งยืนมีดังนี้ 1. รู้เรื่องระบบธรรมาภิบาล เพื่อสร้างกลไกการทำงานร่วมกัน 2. รู้เรื่องเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อสร้างกลไกทางตลาด และสร้างแรงดึงดูดให้กับสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน 3. ทำให้คนทั่วไปและชุมชน ตลอดจนทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนแบบบูรณาการ 4. การวิจัยนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์อย่างบูรณาการ กระตุ้นให้นำองค์ความรู้มาใช้ในการขับเคลื่อน และ 5. เพิ่มศักยภาพของทุกภาคส่วน ผ่านการศึกษาและกิจกรรมการให้ความรู้ และสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง
“ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายของคนธรรมดาทุกคน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ที่สำคัญเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองเรื่อง SDGs เพื่อให้พลิกโฉมการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ก้าวไปไกลขึ้น ซึ่งวันนี้โลกเต็มไปด้วยปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม ๆ ดังนั้น การบรรลุความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำงาน และเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อน SDGs เพื่อให้โลกมีความยั่งยืนสำหรับเราทุกคน และลูกหลานของพวกเราในอนาคต” ผศ.ชล กล่าว
การเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน
ด้าน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนคือ การร่วมมือกัน เพื่อรองรับเรื่อง SDGs กรุงเทพมหานครได้นำหลากหลายเครื่องมือและกิจกรรมมาทำให้ความร่วมมือเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม Traffy Fondue (LINE : @traffyfondue) รับแจ้งทุกประเด็นปัญหาของกรุงเทพฯ ผ่านไลน์ และสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ที่เป็นเวทีเปิดรับความคิดเห็นประชาชนในทุก 3 เดือน รวมถึงปรับพื้นที่ทางกายภาพ ส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะและลดใช้รถยนต์เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ ยังปรับปรุงจุดจอดจักรยานและเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วเมือง ท้ายที่สุดคือ การปรับกฎหมาย เพื่อการใช้งานพื้นที่ต่าง ๆ อย่างยั่งยืน เช่น ควบคุมการเข้าออกของรถบรรทุกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในบางโซน ปรับผังเมืองเพื่อให้เกิดการขยายเมือง และสร้างตึกสูงอย่างปลอดภัย พร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย การตั้งราคาขยะเพื่อกระตุ้นให้คนแยกขยะมากขึ้น ปรับพื้นที่ใต้ทางด่วนให้เกิดประโยชน์ และย้ายท่าเรือคลองเตยเพื่อลดมลภาวะในชุมชนโดยรอบ เป็นต้น
“ความร่วมมือเป็นสิ่งเดียวที่เป็นความยั่งยืนที่สุด ไม่ว่าเมืองจะดีหรือไม่ดี รัฐบาลจะดีหรือไม่ หากขาดความมีส่วนร่วมและไม่ฟังเสียงประชาชนก็ยากที่จะพัฒนาเมืองให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องขยะที่กรุงเทพมหานครรณรงค์ขอความร่วมมือจากภาคประชาชน ซึ่งได้รับความร่วมมือค่อนข้างดี ทำให้ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ลดขยะได้เฉลี่ยวันละ 400 ตันต่อวัน โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมลดไปได้ถึง 700 ตัน ถือว่าเยอะมากที่สุด เป็นผลมาจากความร่วมมือที่ทุกคนช่วยกันแยกขยะ” ศานนท์กล่าว
Nature Integrity ความสมบูรณ์ขององคาพยพเพื่อดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบนิเวศ
ด้าน ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียวและผู้ร่วมก่อตั้งทุ่งน้ำนูนีนอย กล่าวว่า การเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Net Gain) เป็นเทรนด์ที่ต้องใส่ใจในปี 2024 เพราะผลจากการเจรจากรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล แสดงให้เห็นว่าสังคมโลกได้มีความเห็นร่วมกันถึงกรอบแนวทางปฏิบัติ ที่จะประเมิน ติดตาม และตรวจสอบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ และหลายประเทศได้มีมาตรการตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น ประเทศอังกฤษได้ออกกฎหมายที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ เพื่อให้การพัฒนาเมืองหรือพื้นที่อื่น ๆ ต้องออกแบบให้เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพอย่างน้อย 10% เป็นต้น นอกจากนี้ การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพจะทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ได้ทำหน้าที่ในการฟื้นกลไกการทำงานของระบบนิเวศที่ล่มสลายไปแล้วขึ้นมาใหม่ และเปิดโอกาสให้ธรรมชาติจัดสรรตัวเอง แต่ในบางกรณีเราอาจต้องช่วยลั่นไกเพื่อริเริ่มกระบวนการฟื้นฟู รวมถึงการ Rewild เริ่มต้นจากเรื่องเล็ก ๆ รอบตัวได้ เช่น การปล่อยให้หญ้าท้องถิ่นขึ้นมาแทนสนามหญ้าที่เรามักจะตัดให้เตียน เพื่อฟื้นประชากรแมลงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นต้น ที่สำคัญการเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้ ต่อยอดและเชื่อมโยงต่อไปในระดับชุมชน ในเมือง ในพื้นที่เกษตร ในแม่น้ำลำธาร จนถึงพื้นที่อนุรักษ์ขนาดใหญ่ได้ เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างยั่งยืน
“ความสลับซับซ้อนอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติอยู่เหนือความเข้าใจและความสามารถของมนุษย์ เราจึงไม่ควรเข้าไปควบคุมหรือกำกับ แต่ต้องเคารพในสิทธิการดำรงอยู่และกฎกติกาของธรรมชาติ ทำให้ในปัจจุบัน เริ่มมีการออกกฎหมายเพื่อให้มนุษย์ยอมรับในสิทธิโดยชอบธรรมของธรรมชาติ โดยที่ธรรมชาติไม่ต้องพิสูจน์คุณค่าหรือมูลค่าของตัวเอง ในปี 2024 เราจะได้เห็นเทรนด์การเปลี่ยนทัศนคติจากการมองเห็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของธรรมชาติ ไปสู่การตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติที่อุ้มชูและแยกออกจากชีวิตเราไม่ได้เลย ความอดทนอดกลั้นกับการทำลายธรรมชาติควรจะต้องเป็นศูนย์ (Zero Tolerance) เพราะเราสูญเสียธรรมชาติไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว” ดร.สรณรัชฎ์ กล่าว
เปิดเทรนด์ OPA สร้างระบบกำกับดูแลที่ดี ตัวช่วยเพิ่มความสำเร็จ
ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชั่นและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การมีระบบนิเวศธรรมาภิบาล หรือการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance) จะช่วยเพิ่มความสำเร็จในการนำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งวันนี้ขอนำเสนอ 3 เทรนด์ความสำเร็จจากประเทศเกาหลีใต้ที่ขอเรียกว่า “OPA” ประกอบด้วย เทรนด์ O มาจากคำว่า Open Data คือ การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อทำให้ประชาชนสามารถติดตามการทำงานของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทรนด์ P มาจาก Participation หมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างถึงแท้จริง และสุดท้ายเทรนด์ A มาจาก Accountability เป็นเรื่องความรับผิดรับชอบ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้าสังคมมีสิ่งนี้จะทำให้คนโกงทำได้ยาก และคนที่มีความซื่อสัตย์จะมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
“เกาหลีใต้สร้างการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมส่งข้อร้องเรียนต่าง ๆ สามารถติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐได้ จนสามารถจับประธานาธิบดีเข้าคุกได้ สะท้อนว่า 3 เทรนด์นี้ยิ่งใหญ่มาก ประเทศไทยเองก็ยังมีความหวัง วันนี้เรามีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญเรามีประชาชนที่ตื่นรู้สู้โกงไม่ยอมรับการทุจริต ดังนั้น หากมีเทรนด์ที่สำเร็จในประเทศอื่นนำมาประยุกต์ใช้ สร้าง OPA ขึ้นมาได้ เพื่อทำให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศของธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลที่ดีได้ ก็จะเพิ่มความสำเร็จในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ การปฏิรูปการศึกษา การสร้างสวัสดิการให้กับประชาชน เปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง” ดร.ต่อภัสร์ กล่าว
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทสรุปในงาน Sustrends 2024 งานสัมมนาที่ทำให้ทุกคนเข้าใจง่าย ผ่านการบรรยายเพียง 3 สไลด์ จำกัดเวลาคนละ 10 นาที แต่อัดแน่นสาระความรู้สอดแทรกความสนุก มุ่งหวังกระตุ้นให้ทุกคน ทุกองค์กรในประเทศไทยหันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงกระแสที่พัดมาแล้วผ่านไป