SDG Move โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ระบบทำงานด้านความยั่งยืนปัจจุบันยังเป็นไซโล หากไม่ปรับอาจบรรลุเป้าหมายช้าลง 35 ปี พร้อมแนะปรับวิธีคิด มองมุมใหม่จากพื้นฐานปัญหาเป็นหลัก พร้อมแนะ 5 แนวทางขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างมีบูรณาการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนา “Sustrends 2024 : 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก” ถึงความเคลื่อนไหวสำคัญล่าสุดในแวดวงการทำงานด้านความยั่งยืน ที่มีการปรับมุมมองจากการบรรลุ 17 เป้าหมาย มาเป็นการขับเคลื่อนตามกลุ่มปัญหา 6 กลุ่ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนให้สามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายและมีความบูรณาการมากขึ้น
“คณะกรรมาธิการกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ หรือ UN ESCAP เคยประเมินไว้ว่า หากยังคงขับเคลื่อนความยั่งยืนตามโดยมองแค่การบรรลุเป้าหมาย 17 ข้อ ตามกรอบ SDG Goals และทำงานในรูปแบบที่หลายภาคส่วนทำอยู่ในแบบเดิมๆ อาจทำให้สามารถบรรลุได้เป้าหมายช้าออกไปถึง 35 ปี หรือ จะบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ในปี 2065 จากตามแผนที่ระบุไว้ตามกรอบที่ต้องบรรลุเป้าหมายภายในปี 2030 ดังนั้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ จึงไม่ใช่การเร่งความเร็ว แต่ยังเป็นวิธีการทำงานเดิมๆ แต่จำเป็นต้องเกิดการ Transform ผ่านการปรับวิธีคิดใหม่ มีมุมมองในการทำงานใหม่ๆ และเน้นการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างมีบูรณาการโดยมองจากพื้นฐานของปัญหาที่ต้องการแก้ไขเป็นหลัก”
ทั้งนี้ การทำงานด้านความยั่งยืนในปัจจุบันที่มองจากการบรรลุเป้าหมาย 17 ข้อ ทำให้รูปแบบการทำงานยังเป็นแบบไซโล หรือต่างคนต่างทำ ซึ่งอาจะมีความซ้ำซ้อนและไม่สามารถสร้างให้เกิดผลกระทบเชิงบวกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขณะที่การขับเคลื่อนเป้าหมายหนึ่งให้ไปข้างหน้า แต่อาจไปสร้างผลกระทบกับปัจจัยอื่นๆ ให้ถอยหลังลงได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนรูปแบบวิธีคิด และรูปแบบการทำงาน เปลี่ยนจากเป้าหมายที่ต้องการไปถึง เป็นการเลือกมิติของปัญหาที่อยากเข้าไปแก้ไขผ่าน 6 กลุ่มปัญหา ต่อไปนี้
1. Human Wellbeing and Capabilities : เน้นการเข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน รวมทั้งการมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพของมนุษย์
2. Sustainable and Just Economies : การสร้างให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบเชิงบวกจากเศรษฐกิจไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมท้ังมีกลไกในการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
3. Sustainable Food System and Healthy Nutrition : การสร้างระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน และโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจต้ังแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย เพื่อสร้างผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของผู้คน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
4. Energy Decarbonization and Universal Access : การขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
5. Urban and Peri-urban Development : การพัฒนาเมืองและพื้นที่กึ่งเมือง ทั้งการบริหารจัดการเมือง ผลกระทบของเมืองที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาโครงสรางพื้นฐาน เพื่อสร้างความเท่าเทียมในคุณภาพชีวิตของประชากรได้ทั่วท้ังประเทศ
6. Global Environmental Commons : การเข้าไปแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนในการเปลี่ยนผ่านระดับโลก
พร้อมทั้งแนะนำ 5 แนวทาง เพื่อเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน และยังสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ประกอบไปด้วย
1. วางระบบธรรมาภิบาล เพื่อสร้างกลไกการทำงานร่วมกัน จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และครอบคลุมครบทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
2. วางโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อน รวมทั้งวางกลไกทางตลาด และสร้างแรงดึงดูดให้กับสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน
3. สร้างความร่วมมือในระดับบุคคลและชุมชน ตลอดจนทุกภาคส่วนที่อยู่ภายในชุมชน มาร่วมกันขับเคลื่อนอย่างบูรณาการ
4. การนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลนี ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เรื่องของความยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ มาช่วยขับเคลื่อนด้านการพัฒนาร่วมกัน
5. เพิ่มศักยภาพให้กับทุกภาคส่วน ผ่านการจัดกิจกรรม ให้การศึกษา พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง เพื่อสร้างให้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่มาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสานต่อแนวคิดเรื่องความยั่งยืนในอนาคตต่อไป