การศึกษาเกี่ยวกับ “ธุรกิจครอบครัว” (family business) ซึ่งเป็นหนึ่งภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ตามข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (ตลาดหุ้นไทย) พบว่า 451 บริษัท หรือ 57% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย จัดเป็นธุรกิจครอบครัว หรือคิดเป็น 43% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมทั้งตลาด
โดยพบว่า บริษัทจดทะเบียนใน SET 331 แห่ง เป็นธุรกิจครอบครัว กระจายตัวอยู่ในเกือบทุกหมวดธุรกิจ ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดพาณิชย์ หมวดการแพทย์ และยังมีอีก 120 แห่ง ในกลุ่มบริการในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ
ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนบริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวในแต่ละหมวดธุรกิจ จะพบว่า 3 ใน 4 ของบริษัทจดทะเบียนในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดพาณิชย์ หมวดการแพทย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์จัดเป็นธุรกิจครอบครัว
ทั้งนี้ ธุรกิจครอบครัวอาศัยกลไกระดมทุนในตลาดหุ้นไทย เพื่อสร้างการเติบโตให้กิจการ โดยพบว่าช่วงปี 2560 – 2565 บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องปีละ 6.7% ทั้งจากขนาดของกิจการ การระดมทุน การสร้างรายได้และการสร้างผลกำไร โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจครอบครัวเข้าระดมทุนครั้งแรก หรือ IPO จำนวน 149 บริษัท รวมมูลค่า IPO ได้กว่า 308,306 ล้านบาท คิดเป็น 58% ของมูลค่า IPO ทั้งหมด
นอกจากให้ความสำคัญกับการสร้างให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังพบว่า กลุ่มธุรกิจครอบครัวใน SET ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย โดยพบว่า 86 บริษัทในธุรกิจครอบครัว ผ่านการคัดเลือกและอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI : Thailand Sustainability Investment) ประจำปี 2565 โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์รวม 6.42 ล้านล้านบาท คิดเป็น 35% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด จากธุรกิจในกลุ่มหุ้นยั่งยืนท้ังหมด 170 บริษัท ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ 14 ล้านล้านบาท หรือ 72% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด
ที่สำคัญธุรกิจครอบครัวเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยพบว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา รายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนใน SET คิดเป็น 39.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และทำการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงกว่า 101,589 ล้านบาท คิดเป็น 13.6% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งระบบที่กรมสรรพากรจัดเก็บ
ขณะเดียวกัน ข้อมูลช่วงสิ้นปี 2564 พบว่าบริษัทเหล่านี้มีการจ้างพนักงานถึง 925,256 คน โดยเฉพาะการจ้างงานในกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มบริการ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่มีการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ
จึงเห็นได้ว่า ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในบทบาทของหน่วยงานสร้างรายได้ ผู้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ภาครัฐ และหน่วยงานกระจายรายได้จากการจ้างงานพนักงาน ดังนั้น หากทุกภาคส่วนช่วยกันเสริมสร้างให้ “ธุรกิจครอบครัว” มีความแข็งแกร่ง เท่ากับว่าเราช่วยกันสร้างฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทย