‘คราฟท์เบียร์จากผักตบชวา’ ไอเดียสุดครีเอทจากศูนย์ฝึกอาชีพของชุมชน หรือ ศูนย์ฝึกมีชีวิต กศน.ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การต่อยอดทางเศรษฐกิจให้แก่ผักตบชวา ที่มักจะขึ้นผิดที่ผิดทางและขยายจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม หรือสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่
โดยกลุ่มสมาชิกศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน หรือ ‘ศูนย์ฝึกมีชีวิต’ กศน.ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์บริหารจัดการผักตบชวาแบบครบวงจร ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชน และนโยบาย BCG จึงเปลี่ยนแนวคิดจากการนำไปกำจัดมาเป็นการต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แบบที่ยังสามารถรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนไว้ได้อย่างชัดเจน
การต่อยอดมูลค่าให้ผักตบชวาของกลุ่มสมาชิกศูนย์ฝึกมีชีวิต จะนำทุกส่วนไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อไม่ให้เกิดเป็นขยะเหลือทิ้ง (Zero Waste) ซึ่งทุกส่วนของผักตบชวา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น การนำรากไปทำปุ๋ย นำต้นไปทำใยสำหรับทอผ้าจากผักตบชวา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในพื้นที่
รวมทั้งการเลือกใบที่มีขนาดใหญ่ไปทำเป็นจานสำหรับใส่อาหาร และนำต้นอ่อนไปแปรรูปทำอาหารหลายชนิด เช่น บะหมี่ชวา น้ำพริกผักตบชวา ส่วนลำต้นสั้นๆ นำไปทำวัสดุกันกระแทก หรือใช้แทนทรายแมวได้ ส่วนอื่นๆ ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นใบเล็กๆ เปลือก และฟองน้ำของผักตบชวา ก็สามารถนำไปทำเป็นเยื่อกระดาษ หรือกระถางต้นไม้ได้ โดยจะไม่มีขยะเหลือทิ้ง
ส่วนการเกิดขึ้นของ ‘คราฟท์เบียร์ผักตบชวา’ มาจากการต่อยอดความสำเร็จจากกระแส ‘คราฟท์เบียร์ตอซังข้าว’ ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ จากการพยายามต่อยอด Waste ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนเพิ่มเติมจากผักตบชวา จนเลือกใช้ตอซังข้าวเพราะพื้นที่ใน จ.อยุธยา ส่วนใหญ่จะเป็นนาข้าว และเมื่อเก็บเกี่ยวจะเหลือตอซังข้าวจำนวนมาก ทำให้มีความคิดนำมาต่อยอดเช่นเดียวกับผักตบชวา เพื่อลดขยะและลดปัญหาโลกร้อนจากการเผาเศษตอซังข้าว โดยได้นำมาใช้ในหลายรูปแบบ ทั้งนำไปพอกเปลือกไข่เพื่อทำไข่เค็ม หรือการต้มเพื่อสกัดใยมาใช้ในการทอผ้า ทำให้รู้สึกได้ถึงกลิ่นหอมที่เหมาะสำหรับทำเครื่องดื่ม จนตกผลึกมาเป็น ‘คราฟท์เบียร์ตอซังข้าว’ ภายใต้แบรนด์ ‘น้ำใส’ เพื่อสื่อถึงการเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนของหนองน้ำใส สำหรับจำหน่ายภายในศูนย์ร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของทางชุมชน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและกลายเป็นกระแสในวงกว้าง
นำมาสู่การพัฒนา ‘คราฟต์เบียร์จากผักตบชวา’ ตามแนวทาง BCG in Action : The New Sustainable Growth Engine (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อสร้างโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผักตบชวาที่มีอยู่จำนวนมากตามแหล่งน้ำในธรรมชาติ จนสร้างปัญหาให้กับการทำการเกษตรของผู้คนในพื้นที่และเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านส่ิงแวดล้อมด้วย
สำหรับการผลิตเบียร์ทำมือ หรือคราฟท์เบียร์ของชุมชนตำบลหนองน้ำใส เริ่มต้นจากชุมชนนำวัตถุดิบจากต้นอ่อนผักตบชวา มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำเวิร์ท จนเกิดกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และนำไปหมักบ่มจนไปมีรสชาติที่มีเอกลักษณ์ มีความชัดเจนในรสชาติ เน้นความสดชื่น เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางศูนย์เตรียมเปิดตัว ‘คราฟท์เบียร์ผักตบชวา’ อย่างเป็นทางการในงาน Local Craft @ The Old Town #2 ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 30 กันยายน 2566 ที่จะถึงนี้
ข้อมูล + ภาพ : Facebook กศน.ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา