หลังประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ จากบริษัทพลังงานถ่านหินเล็กๆ ในประเทศไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มาเป็นผู้ให้บริการพลังงานที่หลากหลายและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามโจทย์และเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านการขับเคลื่อนกลยุทธ์สำคัญอย่าง Greener & Smarter ที่เริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน
ปัจุจบัน บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มีฐานธุรกิจอยู่ใน 9 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ซึ่งหากรวมฐานธุรกิจทั้งหมดของบ้านปูอาจกล่าวได้ว่า เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้
ทั้งนี้ คุณสมฤดี ชัยมงคล Chief Executive Officer บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ฉายภาพ What’s Next? ถึงทิศทางการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) หรือ 3 ปีจากนี้ ด้วยเป้าหมายการเพิ่มการเติบโตของพอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานพร้อมการนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานสะอาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ธุรกิจ ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนได้มากขึ้น ภายใต้งบลงทุนรวม 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
โดยการจัดสรรงบลงทุนลงให้กับกลุ่มผลิตไฟฟ้ามากที่สุด เพื่อลงทุนในกลุ่ม Renewable เพื่อให้ไฟฟ้าที่บ้านปูผลิตได้มาจากพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง และสามารถสร้าง Value และความแตกต่างในตลาดได้ เช่น การพัฒนาไฟฟ้าจากไฮโดรเจน แอมโมเนีย หรือจากเทคโนโลยี HELE (High Efficiency, Low Emissions) รวมทั้งลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีพลังงาน และการลงทุนเทคโนโลยีดักจับคารบอนในกลุ่มก๊าซธรรมชาติ พร้อมการเพิ่มโอกาสการลงทุนผ่านหน่วยงานใหม่อย่าง Corporate Venture Capital (CVC) สำหรับลงทุนในกองทุนหรือธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลังงานต่างๆ จากทั่วโลกเพื่อเสริมความแข็งแรงให้ระบบนิเวศของบ้านปู โดยตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำไรขั้นต้น (EBITDA) จะมาจากธุรกิจในกลุ่มพลังงานสะอาดมากกว่า 50% ภายในปี 2568
เร่งขับเคลื่อน 4 ธุรกิจเรือธง 1 หน่วยงาน
สำหรับแผนการลงทุนและเป้าหมายของทั้ง 4 ธุรกิจเรือธง และ 1 หน่วยงาน ภายใต้การเปิดเผยของคณะผู้บริหารของแต่ละกลุ่มธุรกิจซึ่งประกอบด้วย คุณฐิติ เมฆวิชัย Head of Oil and Gas Business คุณจามร จ่าเมือง Senior Vice President – Mine Engineering and Development คุณกิรณ ลิมปพยอม Head of Power Business คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ Head of Renewable and Energy Technology Business และ คุณสมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ Head of Corporate Venture Capital มีรายละเอียด ดังนี้
ธุรกิจเหมือง ปัจจุบันไม่มีการลงทุนใหม่ในธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติม แต่มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดเพื่อต่อยอดธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter และการพัฒนาการดำเนินงานในสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสู่ธุรกิจ Strategic Minerals มุ่งเน้นแร่แห่งอนาคตที่จะเป็นทรัพยากรต้นทางของโซลูชันพลังงานสะอาด
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศยุทธศาสตร์ โดยปัจจุบันบ้านปูเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกในสหรัฐฯ ด้วยกำลังผลิตประมาณ 890 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน (MMcfepd) เป้าหมายในอนาคตคือ การขยายพอร์ตธุรกิจทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ ตั้งแต่แหล่งก๊าซ ระบบแยก อัดก๊าซ จนถึงท่อขนส่งก๊าซ คู่ขนานไปกับการเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS)
โดยขณะนี้มี 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ Barnett Zero (บาร์เนตต์ ซีโร่) โครงการ Cotton Cove (คอตตอน โคฟ) และโครงการ “High West (ไฮเวสต์)” รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตโดยบริษัทลูกในสหรัฐฯ โดย ตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) สำหรับ scope 1 และ 2 ราวปี ค.ศ. 2025 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สำหรับการปล่อยมลสารจากธุรกิจต้นน้ำ scope 3 ภายในทศวรรษ 2030
ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เร่งขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในโรงไฟฟ้าพลังงานที่สะอาดขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี HELE และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ล่าสุด เข้าลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส เป็นการสร้างคุณค่าจากการผสานพลัง (Synergistic Value) กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่มีอยู่เดิม เสริมความแกร่งให้กับห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจของบ้านปูในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังได้เริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบัน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบ้านปูมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 4,974 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,008 เมกะวัตต์ และจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 966 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดย วางเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้ 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เน้นขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น นำเอาดิจิทัลโซลูชันมาผสมผสานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ และขยายการลงทุนสู่พันธมิตรใหม่ๆ โดยวางเป้าหมายปี 2568 ดังนี้
– ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating) ตั้งเป้ากำลังผลิตรวม 500 เมกะวัตต์
– ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & ESS Solutions) ตั้งเป้ากำลังผลิต 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง
– ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) จำนวน 60 โครงการ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ตั้งเป้ากำลังซื้อขายไฟฟ้า 2,000 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
– ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ (E-Mobility) ตั้งเป้าขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) ทั้งบริการ Ride Sharing, Car Sharing, EV Charger Management และ EV Fleet Management โดยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ
นอกจาก 4 ธุรกิจเรือธงแล้ว ปี 2565 บ้านปูได้จัดตั้ง หน่วยงาน Corporate Venture Capital เพื่อดูแลการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve ที่จะช่วยเร่งการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่และระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู โดยวางงบประมาณไว้ต่อปีที่ราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
หน่วยงานนี้จะเน้นการผสานคุณค่าร่วมให้กับธุรกิจที่มีอยู่เดิม (Synergistic Value) ให้น้ำหนักกับการเลือกธุรกิจที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี มีความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ลงทุนในกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุน Warburg Pincus ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของบ้านปู เน็กซ์ (Banpu NEXT) ในการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดในต่างประเทศ กองทุน Heyokha Makha ที่จะส่งเสริมการทำโครงการเหมืองแร่แห่งอนาคต และกองทุน Smart City ของ Eurazeo ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาด ยานยนต์อัจฉริยะ และเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนในสตาร์ทอัพ AirCarbon Exchange (ACX) แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในระดับโลก
มุ่งสู่ Smart Energy For Sustainability
คุณสมฤทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้หลังจากนี้โลกธุรกิจจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหรือผันผวนอย่างไร ก็เชื่อว่า บ้านปูจะสามารถข้ามผ่านและเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้มากขึ้น โดยเฉพาะความกังวลต่อปัญหาสภาพอากาศที่มีการตื่นตัวไปทั่วโลก ทำให้โลกก้าวสู่สภาวะ Never Normal ที่จะไม่สามารถกลับไปสู่ความปกติเหมือนช่วงก่อนหน้าวิกฤตได้ ประกอบกับการประกาศเป้าหมายในการลดคาร์บอนลง 40% ในปี 2040 และการขับเคลื่อนสู่ Net Zero ในปี 2065 ของประเทศไทยที่นานายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นกับทาง UN ไว้ครั้งล่าสุดนี้ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งบ้านปูจะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดันไปสู่เป้าหมายได้เช่นกัน
“อนาคตทิศทางของโลก จะมีการหันมาใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น พอร์ตโฟลิโอของบ้านปู จะมีการเติมพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้เติมเฉพาะบางส่วน แต่ให้ความสำคัญตลอดทั้งซัพพลายเชน ต้ังแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการพัฒนา CCUS ซึ่งบ้านปูจะเป็นบริษัทคนไทยรายแรกที่สามารถทำตลาดนี้ได้ในอเมริกา รวมทั้งการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีแหล่งผลิตมาจากพลังงานสะอาด และสามารถทำตลาดในกลุ่มพรีเมียมได้ ซึ่งจากนี้ไป เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นผู้ส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของโลกในอนาคต เพื่อนำไปสู่อนาคตแห่งพลังงานงานที่ยั่งยืนหรือ Smart Energy For Sustainability ”
อย่างไรก็ตาม แนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนของบ้านปู มาจากการมีระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง ภายใต้การดำเนินธุรกิจตามกรอบ ESG ที่ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีธรรมาภิบาล พร้อมคำนึงถึงผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ พร้อมทั้งการใช้กลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน ภายใต้วัฒนธรรมองค์กร บ้านปู ฮาร์ท (Banpu Heart) ที่ทำให้คนบ้านปูที่มีทั้งความหลากหลายเชื้อชาติ และต่างวัฒนธรรม สามารถมีเป้าหมายและเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ในที่สุด