ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ร่วมกับ ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี (BLCSME) ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของชมรมฯ ติดปีกความรู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดงานสัมมนา “SME Transformation : เปลี่ยนผ่านธุรกิจ เติบโต ยั่งยืน” ร่วมหนุนผู้ประกอบการไทยแข็งแกร่ง แข่งขันได้ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน แนะปรับตัวรับ 4 ปัจจัย ในบริบทใหม่โลกธุรกิจยุคเปลี่ยนผ่าน พร้อมเปิด “คลินิก” ให้คำปรึกษาธุรกิจแบบครบวงจร เร่งปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล หนุนเติบโตอย่างยั่งยืน
เป้าหมายสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อร่วมเติมความรู้ เสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยได้รับเกียรติจากสุดยอดผู้บริหารองค์กรชั้นนำร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรง ทั้งธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ปูนชิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SCG รวมทั้งสมาชิกดาวเด่นของชมรมที่เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อต่างๆ เตรียมพร้อมให้ธุรกิจรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจากภาวะเศรษฐกิจ และกฎระเบียบต่างๆในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอสเอ็มอีมีความสำคัญอย่างมากต่อรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน และสร้างรายได้ให้ประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่า 35% ของ GDP รวมทั้งเป็นรากฐาน Supply Chain ที่สำคัญของหลายๆ อุตสาหกรรมของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งธนาคารกรุงเทพเล็งเห็นศักยภาพและให้ความสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนเอสเอ็มอี เพื่อเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสนับสนุนไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค และของโลก
“เราไม่เพียงสนับสนุนเอสเอ็มอีในด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมุ่งเป็น Facilitator ที่ช่วยประสานความร่วมมือกับภาคราชการและสถาบันการศึกษา ให้มาถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เทคโนโลยีการผลิต การเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านเครือข่าย Supply Chain อีกทั้งธนาคารยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ของธนาคาร”
นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนสินเชื่อพิเศษ เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ให้สามารถประคับประคองกิจการและรักษาการจ้างงาน เพื่อรอโอกาสที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับโอกาสทางธุรกิจจากสถานการณ์เดียวกัน ธนาคารก็ได้สนับสนุนสินเชื่อสำหรับการขยายธุรกิจ หรือผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยน Business Model ให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป ซึ่งธนาคารยินดีให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินลงทุนและ Know-how ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายพันรายที่ได้รับประโยชน์จากสินเชื่อพิเศษนี้
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายและทางออกในการพัฒนา เอสเอ็มอีไทย” ว่า จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า มูลค่าธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย คิดเป็น 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่มีมูลค่าประมาณ 17 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจบริการมีสัดส่วนมากที่สุดกว่า 40%
ทั้งนี้ ในปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีไทยต้องประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ด้านต้นทุน การขาดแรงงานฝีมือ ขาดองค์ความรู้เชิงลึก และขาดศักยภาพการแข่งขัน รวมทั้งสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยยังขาด คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับธุรกิจให้มากขึ้น ทั้งเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม
“ในยุคดิจิทัล เอสเอ็มอีจะต้องนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีมาปรับใช้ เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหากภาคธุรกิจไม่ปรับตัวจะทำให้เกิดปัญหา Digital Disruption จนธุรกิจไปต่อไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันทั้งหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนมีแนวทางสนับสนุนภาคธุรกิจในเรื่องนี้จำนวนมาก เพื่อให้ภาคธุรกิจมีภูมิต้านทานและพร้อมจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน”
แนะ SME ปรับตัวรับ 4 ปัจจัย ในบริบทธุรกิจใหม่
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทยและผลกระทบต่อเอสเอ็มอี” ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเตรียมตัวรับมือ 4 เรื่องสำคัญที่จะเกิดการเปลี่ยนในอนาคต ได้แก่
1. การปรับตัวในในยุค Industrial Revolution 4.0 ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเอสเอ็มอีจะต้องปรับตัวให้ทัน และนำเข้ามาปรับใช้เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน
2. ร่วมเป็น Supply Chain ใหม่ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐที่จะรุนแรงขึ้น จะนำมาสู่โอกาสใหม่ของอาเซียน โดยคาดว่าการลงทุนจะไหลเข้าสู่ประเทศในอาเซียนมากขึ้น และเชื่อว่าภายใน5 ปีข้างหน้าอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งด้านการลงทุนเศรษฐกิจ และท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนได้
3. โอกาสจากความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียและอาเซียนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเจริญขยายสู่หัวเมืองใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีโอกาสในการขายสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น
4. มาตรการใหม่ของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการการใช้แรงงาน รวมทั้งมาตรการทางการเงิน ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการต่างๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
นอกจากความรู้จากสุดยอดผู้บริหารองค์กรชั้นนำแล้ว ภายในงานครั้งนี้ ยังได้มอบรางวัลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีดาวเด่น 10 ธุรกิจ จากชมรมฯ ที่ได้นำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ รวมทั้งให้มีบริการ “คลินิก” ให้คำปรึกษาจากหน่วยงานพันธมิตร มาร่วมออกบูธภายในงาน เช่น BOI ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ, บูธ DEPA แนะนำวิธีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ยุคดิจิทัล, บูธ NIA ส่งเสริมการปั้นธุรกิจ SME สู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และ บูธ สวทช. สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งยังสามารถขอคำปรึกษาด้านการลงทุนกับบูธธนาคารกรุงเทพ โดยมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อ Bualuang Green เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รับมือต่อความท้าทายของธุรกิจและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี เป็นหนึ่งแนวทางเพื่อช่วยสนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการธนาคารกรุงเทพ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 จากดำริของ ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร ที่ต้องการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเริ่มต้นจากการรวมตัวของผู้ประกอบการที่ผ่านการอบรมจากธนาคารและจัดตั้งเป็น “ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี” โดยธนาคารได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายทางธุรกิจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน รวมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ชมรมฯ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อขยายฐานการสร้างเครือข่ายสมาชิกที่แข็งแรง ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกเอสเอ็มอีจากทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย ภายใต้สโลแกน “สัมพันธ์ดี มีเครือข่าย ได้ความรู้ อุ้มชูธุรกิจ”