กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กองทุนสิ่งแวดล้อม เปิดตัวกองทุน ThaiCI (Thai Climate Initiative Fund) เพื่อเป็นกองทุนช่วยขับเคลื่อนงานรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต
ภายใต้การขับเคลื่อนทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก (Mitigation) ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) และด้านการส่งเสริมขีดความสามารถในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ด้วยวงเงินงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 6.5 ล้านยูโร หรือราว 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุน ThaiCI เป็นกลไกการเงินที่สนับสนุนการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ขาดแคลนเงินทุนจะได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว โดยเฉพาะโครงการที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นให้สามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศในการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2065 ซึ่งประกอบด้วยการสนับสนุนด้านวิชาการ เพื่อการยกระดับขีดความสามารถด้านการดำเนินงานของกองทุนสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ดำเนินโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเงินทุน (Seed funding) เพื่อสนับสนุนโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ทั้งในมิติของโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คุณเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ล่าสุด ที่องค์การสหประชาชาติได้ชี้ว่า เดือนกรกฎาคมของปี 2566 นี้ ถูกจัดว่าเป็นเดือนที่ร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกสถิติอุณหภูมิพื้นผิวโลก รวมถึงอุณหภูมิมหาสมุทรก็อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้ส่งสัญญาณว่าโลกได้ก้าวข้ามผ่านยุคโลกร้อน หรือ Global Warming เข้าสู่ ยุคโลกเดือด หรือ Global Boiling แล้ว การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น และผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนิโญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญทั้งภัยแล้งและฝนตกหนัก จะส่งผลกระทบต่อทุกกิจกรรมของมนุษย์ ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ การพัฒนากลไกทางการเงินตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยยกระดับให้กองทุนสิ่งแวดล้อมสามารถรองรับการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยได้มีโอกาสเริ่มต้นดำเนินงานด้านการเงิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม
“ความร่วมมือกับรัฐบาลเยอรมนีในการจัดตั้งกองทุนภูมิอากาศของไทย หรือ กองทุน ThaiCI ภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งในการดำเนินงานอันจะนำไปสู่ผลสำเร็จร่วมกันในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับสากลเพื่อการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศเป็นศูนย์ (Net Zero)ภายในปี 2065 ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีศักยภาพในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อการดำรงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป”
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการอภิปรายในหัวข้อ “การต่อยอดขยายผลการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปสู่การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งมีผู้ดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมอภิปรายความสำคัญของการบูรณาการการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับกองทุน ThaiCI กองทุนสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของหน่วยงานภาคีเครือข่าย
ทั้งนี้ กองทุน ThaiCI เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือ Thai-German Cooperation on Energy, Mobility and Climate Programme (TGC EMC) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ของประเทศไทย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 26 ล้านยูโร จากกองทุน IKI ของ BMWK และการดำเนินการผ่าน GIZ ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2566-2570)