บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของอาเซียน และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ามหานครสองสายในกรุงเทพฯ และทางด่วน ร่วมลงนามข้อตกลงการใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าระบบรางครั้งแรกในประเทศไทย
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่างสองบริษัท ในการนำองค์ความรู้และทรัพย์สินเพื่อ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เพื่อให้บริการขนส่งมวลชน 54 สถานีทั่วกรุงเทพฯ รวมระยะทางกว่า 71 กิโลเมตร ภายใต้ระยะเวลา 25 ปี โดยคาดว่า ตลอดความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้กับระบบรถไฟฟ้าใต้ดินได้ปริมาณมหาศาลถึง 452 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือคิดเป็น 12% ของปริมาณกระแสไฟฟ้าที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงต้องใช้รวมกันทั้งหมด
คุณธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ขับเคลื่อนระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางในขอบเขตการทำงานขนาดใหญ่ ซึ่งความร่วมมือระหว่าง CKPower และ BEM ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น และถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของบริษัทที่ได้เข้ามามีส่วนเป็นผู้บุกเบิกการนำพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
“คาดว่างานออกแบบจะแล้วเสร็จราวเดือนมกราคม 2567 และจะเริ่มงานก่อสร้างภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 6 เดือน และจะสามารถเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบให้รถไฟฟ้าทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งจะทยอยส่งมอบจนเต็มระบบได้ภายในปีหน้า ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ขณะที่ความสำเร็จจากการขับเคลื่อนโครงการนี้จะสามารถเป็นต้นแบบให้โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอื่นๆ ร่วมเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของเยอรมัน ที่เป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุดของประเทศเยอรมนี”
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ ของการพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มสัดส่วนการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในระบบขนส่งที่กำลังขยายตัว และมีแนวโน้มความต้องการพลังงานที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การใช้พลังงานสะอาด และสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608
“ภายใต้ข้อตกลงนี้ จะทำการติดตั้งพื้นที่เพื่อใช้รับพลังงานแสงอาทิตย์ในการนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด 6 จุด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 106,000 ตารางเมตร อาทิ หลังคาของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า อาคารที่จอดรถ และอาคารสำนักงานของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง โดยคาดว่าจะช่วยให้บริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งมีส่วนช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในการดำเนินงานของบริษัทให้ลดลงได้อีกทางหนึ่งด้วย”
ด้าน คุณธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมาย 3 ปี ของซีเค พาวเวอร์ ที่ได้เริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2565 โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายขนาดของธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าเท่าตัว ภายในปี 2567 พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก 2,000 เมกะวัตต์ เป็น 4,800 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดจะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น ประกอบด้วย พลังแสงอาทิตย์ พลังลม และพลังน้ำ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งหมดของประเทศไทย โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนถึง 93% จากกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งโดยรวม 3,627 เมกะวัตต์
“ซีเค พาวเวอร์ ถือเป็นหนึ่งในผู้นำและผู้บุกเบิกการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาค ที่มีองค์ความรู้เฉพาะทางครบวงจร รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญ ในการออกแบบด้านวิศวกรรม ติดตั้งและก่อสร้างระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ตลอดจนดูแลเรื่องความพร้อมในการจ่ายไฟและการบำรุงรักษาหลังการติดตั้งอย่างครบวงจร โดยปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ประเทศไทยได้ 9,767 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือประมาณ 4.5% ของไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศ และช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศลงได้ราว 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้งหมด 9 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย จ.นครราชสีมา ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท”
อย่างไรก็ตาม องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy Agency: IEA) ประเมินว่าภายในปี 2569 กว่า 95% ของการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วโลกจะเป็นการผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียน โดยกว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และจะเป็นแหล่งพลังงานที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และมีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตร เช่น ประเทศไทย ถือว่ามีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เนื่องจากมีแสงแดดตลอดทั้งปี ช่วยให้มีต้นทุนลดลงสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้านี้ ความต้องการพลังงานในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยมีการวิเคราะห์ไว้ว่า ในอนาคตภาคการขนส่งจะเป็นผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน และสูงกว่าภาคอุตสาหกรรมได้ในที่สุด