หลังจากสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ออกมาให้รหัสสีแดง หรือ Code Red ในปี 2564 เพื่อส่งสัญญาณเตือนมนุษยชาติ ถึงการที่โลกกำลังจะก้าวสู่ดินแดนที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือการต้องเผชิญกับหายนะที่รุนแรงมากขึ้นหากยังไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาวิกฤตสภาพอากาศได้
2 ปีให้หลัง ถึงปลายเดือนกรกฏาคม 2566 ทาง UN ออกมาประกาศสิ้นสุดยุค ‘โลกร้อน’ หรือ Glolbal Warming และกำลังย่างก้าวเข้าสู่ยุค ‘โลกเดือด’ หรือ Global Boiling หลัง องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ออกแถลงการณ์ร่วม Copernicus Climate Change Service ระบุว่า เดือนกรกฎาคม 2023 นี้อุณหภูมิของโลกถือว่าร้อนจัดเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 1.2 แสนปีเลยทีเดียว
Why Global Boiling?
แน่นอนว่า อุณหภูมิของ ‘โลกเดือด’ อาจจะไม่สูงถึง 100 องศาเซลเซียส เหมือนกับอุณหภูมิของน้ำที่กำลังเดือดจนระเหยกลายเป็นไอ แต่ก็เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ สามารถสะท้อนถึงความรุนแรงและเร่งด่วนของปัญหาสภาพอากาศที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้อย่างเป็นอย่างดีนั่นเอง
ขณะที่ Climate Change Institute รายงานอุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 25 ก.ค. ตั้งแต่ปี 1997 -2000 จาก 16.25 องศาเซลเซียส ขยับขึ้นมาเป็น 17.14 องศาเซลเซียส ในวันเดียวกันคือ 25 ก.ค. ของปีนี้ และพบว่าในเดือน ก.ค. ของปีนี้ เป็นปีที่ร้อนที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลมา
What’s Next?
การเข้าสู่สภาวะ ‘โลกเดือด’ ทำให้โลกต้องเผชิญกับปัญหาคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และสภาพอากาศ Extreme Weather ในแบบที่รุนแรงอย่างไม่เคยพบมาก่อน ทั้งพายุ น้ำท่วม ไฟป่า อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น
ทำให้หลายพื้นที่ทั่วโลกเกิดวิกฤติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนการมาถึงของหายนะที่เพิ่งเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่าน้ัน พร้อมกับผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในโลก จากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ อาทิ
– การเกิดคลื่นความร้อน ซึ่งถือเป็น “ภัยเงียบ” และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนอย่างรุนแรงมากที่สุด โดยอุณหภูมิที่ร้อนจัด ในปีที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะแค่ในยุโรปมากถึง 6,000 คนเลยทีเดียว โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางของสังคมรวมทั้งผู้สูงอายุ ซึ่งพื้นที่เขตเมืองซึ่งอาจจะร้อนมากกว่าในเขตชนบท และคาดว่าจากนี้ไป จำนวนผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนจะมีแต่เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากสถานการณ์สภาพอากาศที่สุดโต่งอย่างที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน
– ความร้อนที่จะสูงเป็นประวัติการณ์ จะสร้างปัญหาต่อระบบสาธารณสุข และปัญหาสุขภาพพื้นฐานให้ผู้คนทั่วโลก กลายเป็นภาระต่อระบบการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลในหลายประเทศต้องแบกรับ ทั้งนี้ พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากความร้อนของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นราว 2 ใน 3 ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การเกิดไฟป่าในประเทศต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นราว 60%
– พื้นที่ราว 1ใน 3 ของโลก จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทุกปี เมื่อเทียบกับทศวรรษ 1950 โดยเฉพาะบริเวณ Horn of Africa และ South America หรือพื้นที่ชายขอบของแอฟริกา และอเมริกาใต้ จะมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คนอีกหลายสิบล้านคนเข้าสู่ปัญหาความหิวโหยอย่างสุดขีด
– การเกิดปรากฏการณ์เอล นีโญ ในปีนี้ จะนำมาซึ่งอุณหภูมิที่ร้อนจัด และทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรร้อนขึ้นจนส่งผลต่อระบบนิเวศใต้น้ำ โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พบว่า อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลได้สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แถบพื้นที่สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ทะเลบอลติก ทะเลญี่ปุ่น ตลอดจนบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียตะวันตก
ทั้งนี้ ทาง UN ได้เรียกร้องให้บรรดาผู้นำเลิกลังเล ในการเดินหน้าเพื่อรับมือกับต่อปัญหาสภาพอากาศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย ให้เลิกนโยบายฟอกเขียว และหันมาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านเทคโนโลยี Climate tech พร้อมสนับสนุนนโยบายพลังงานสะอาดอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น