กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ประกาศความพร้อม “การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” (Department Of Climate Change and Environment) เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา
โดยได้ผนึกกำลังกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พร้อมหนุนเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065
สำหรับโครงสร้างของ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” จะประกอบด้วยหน่วยงานภายใน ออกเป็น 6 สำนัก /ศูนย์ / กอง ประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการกรม, กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก, กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ, กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ภารกิจสำคัญ เน้นขับเคลื่อนใน 7 มิติต ต่อไปนี้
1. จัดทำนโยบาย แผน และมาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ การลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2. ดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. รวบรวม จัดทำ และให้บริการข้อมูล และข้อสนเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
4. จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และในระดับพื้นที่
5. ส่งเสริม เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ทุกภาคส่วน ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
6. พัฒนาศักยภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
7. ศึกษา วิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม
พร้อมกันนี้ ยังได้เปิด “ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานกลาง ส่งเสริมสนับสนุน ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ ในระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและระดับนานาชาติ เพื่อเป็นศูนย์ติดตาม พยากรณ์ และคาดการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แจ้งเตือน สำหรับการแก้ไขปัญหา การรับมือ และปรับตัวกับความเสี่ยงเชิงพื้นที่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โลโก้ใหม่ สะท้อนความสัมพันธ์และการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับโลโก้ใหม่ของ ‘กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม’ ออกแบบเป็นรูปวงกลมซ้อนกัน 2 วง
ภายในวงชั้นในเป็นสีขาว ซึ่งเป็นรูปแสดงความหมายถึง สภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ส่วนภายในวงกลมชั้นนอก ด้านบนมีภาษาอังกฤษว่า “DEPARTMENT OF CLIMATE CHANGE AND ENVIRONMENT” ด้านล่างมีอักษรภาษาไทยว่า “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม”
ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ประกอบด้วย กังหันลม และแผงโซล่าเซลล์ หมายถึง พลังงานทดแทนที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรของโลก ให้สามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน และยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้, ดวงอาทิตย์ เมฆ หมายถึง สภาพอากาศทุกพื้นที่ของประเทศ ส่วนคน ต้นไม้ นก น้ำ หมายถึง องค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่จะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งการจัดการสภาพแวดล้อมที่ดี ย่อมมีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศด้วย