หลายคนคงมีประสบการณ์ช้อปปิ้งผักผลไม้ตามซูเปอร์มาร์เก็ต และส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับฉลากแบบสติกเกอร์ที่ติดไว้บนเปลือกของผลไม้แต่ละประเภท ซึ่งส่วนใหญ่สติกเกอร์เหล่านี้มักจะติดไว้เพื่อบอกว่าแบรนด์ชื่ออะไร โดยไม่ได้ก่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ
และในหลายๆ ครั้ง สติกเกอร์เหล่านี้ก็กลายเป็นขยะไปพร้อมกับผักผลไม้ หากไม่สามารถจำหน่ายได้ โดยเฉพาะหากผักผลไม้เหล่านี้เริ่มสุกงอม ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักจะหลีกเลี่ยงการเลือกซื้อหรือไม่บริโภคต่อ ทำให้ปริมาณขยะอาหาร หรือ Food waste ในกลุ่มผักผลไม้จากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ รวมทั้งจากบ้านเรือนมีจำนวนค่อนข้างมาก
ซึ่งจากสถิติขององค์กรอาหารและการเกษตร (FAO) และกรมการวางแผนแห่งชาติ พบว่า โคลอมเบียสร้างขยะอาหารในปริมาณ 6.1 ล้านตันต่อปี โดย 40% ของขยะอาหารเหล่านั้นเป็นผักและผลไม้
เป็นเหตุผลให้ Makro Supermarkets ในประเทศโคลอมเบีย จับมือกับเอเจนซี่ Grey สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่าง Makro Life Extending Stickers ที่สามารถช่วยลดปริมาณขยะอาหารได้อย่างยั่งยืน โดยการเปลี่ยนสติกเกอร์บอกชื่อแบรนด์ที่ติดไว้บนผักและผลไม้ซึ่งไม่สามารถสร้างประโยชน์อื่นใด มาเป็นการใช้สติกเกอร์แบบที่มีเฉดสีเหมือนผักผลไม้ชนิดต่างๆ เพื่อใช้บ่งบอกระดับความสุกงอมของผักผลไม้แต่ละประเภท
พร้อมด้วยข้อความที่ระบุรายละเอียดว่าความสุกของแต่ละสีที่แตกต่างกันนั้น นั้นสามารถนำไปต่อยอดเพื่อทำเมนูประเภทใดได้บ้าง เพื่อเป็นไอเดียรวมทั้งให้ความรู้ หรือช่วยเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของลูกค้าที่มักจะหลีกเลี่ยงการซื้อหรือบริโภคผักและผลไม้ที่เริ่มจะสุกแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในสติกเกอร์ขนาดราว 1×1 นิ้ว และข้อมูลบนสติกเกอร์จะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจในการรับประทานหรือนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเมนูในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยลดปริมาณขยะอาหารในกลุ่มผักและผลไม้ จากที่ก่อนหน้านี้คนส่วนใหญ่มักทิ้งผักผลไม้เหล่านั้นลงถังเมื่อสภาพของมันดูไม่น่ารับประทานอีกต่อไป
Juan José Posada ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการสร้างสรรค์ ของ Grey กล่าวว่า “ผู้คนมักทิ้งผักผลไม้เพราะสภาพมันดูไม่สวย แต่ด้วยการสร้างสรรค์สติกเกอร์ขนาด 1×1 นิ้ว จะช่วยยืดอายุผักผลไม้เหล่านั้น และเมนูอาหารอร่อยๆ จะเป็นรางวัลให้แก่ลูกค้า” เขายังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าคงทำได้ยาก แต่ไอเดียสดใหม่นี้จะมีส่วนช่วยให้ในการต่อสู้กับปัญหาขยะอาหารเพื่อโลกของเราได้”