ผลสำรวจการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มีผู้ประกอบการจากการสำรวจเพียง 1 ใน 4 หรือ 25% เท่านั้น ที่เริ่มปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการของบริษัท
ซึ่งในจำนวนนี้มีมากกว่าครึ่งหรือ 55% ที่ยังไม่ได้ดำเนินการวัดและจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์จากการดำเนินงานของบริษัท สะท้อนถึงความท้าทายของการไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศ เพื่อมุ่งสู่ Net zero
ทั้งนี้ พบว่าแนวทางการขับเคลื่อนของภาคเอกชนเพื่อลดการปล่อย GHG มากที่สุดอันดับแรกคือ การปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้เชื้อเพลิงและพลังงานหมุนเวียน โดยมีจำนวนถึง 64% ของกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำการสำรวจ ตามมาด้วยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ราว 45%-55% มองว่าผลของการดำเนินการดังกล่าวมีผลในการเพิ่มต้นทุนในกรอบไม่เกิน 10% จากกรณีปกติ และอีกราว 18%-27% ของผู้ตอบ มองว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นในกรอบ 10-30% ขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินการ ซึ่งหากมีนโยบายสนับสนุนที่จูงใจมากพอ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลด GHG ของผู้ประกอบการได้ดีมากยิ่งขึ้น
โดยสิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการ คือ กำหนดเป้าหมาย Net Zero ขั้นต่ำลงในระดับอุตสาหกรรมให้ชัดเจน รวมทั้งระดับการปล่อย GHG โดยในปี 2563 มีการปล่อยจำนวน 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
ขณะที่การวาง Road Map ยังคงมุ่งเน้นที่ภาคพลังงาน และผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ดังนั้น การจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero จำเป็นต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่ภาคพลังงาน แต่ต้องบูรณาการให้ครอบคลุมทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ
โดยอาจเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อย Emission ขั้นต่ำที่ชัดเจน มีตัวชี้วัดที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา และมีการสร้างแผนงานที่ชัดเจนและร่วมกันทำงานระหว่างหน่วยงานของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งควรเร่งวางแนวทางขับเคลื่อนภาคธุรกิจ รับมือกับโจทย์ด้านนโยบาย/มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าไทยจะมีการดำเนินโครงการประเภท Decarbonization หรือ Clean Technology บ้างแล้ว แต่เป็นการดำเนินการเพื่อเป้าหมาย Carbon Neutral หรือ ของภาคเอกชนไทยเป็นหลัก และอยู่ในรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Basis) ที่ไม่มีข้อกำหนด หรือระเบียบจากภาครัฐมาบังคับปฏิบัติ ดังนั้น การสร้างความคืบหน้าในระดับประเทศจึงยังอยู่ในวงจำกัด
โดยเฉพาะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลออย่างยิ่ง เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่จะเริ่มให้รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียูในเดือนตุลาคม 2566 นี้ รวมทั้งการเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569 แต่ปัจจุบัน ยังขาดการสื่อสารนโยบายจากภาครัฐเพื่อมาดูแลกลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ ว่าควรต้องดำเนินการเช่นไร ด้วยมาตรฐานใด เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่เชื่อมโยงอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมรายใหญ่ ให้สามารถปรับตัวได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ทัน และรักษาส่วนแบ่งในตลาดส่งออกไว้ได้
นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายจูงใจและชดเชยผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด แม้จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อภาระทางการคลัง เนื่องจากในการมุ่งเน้นให้ภาคพลังงานหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น อาจส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ผ่านนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จูงใจกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอาจส่งผ่านไปยังค่าไฟของประชาชน