ระบบนิเวศ Blue Carbon Ecosystem (BCE) ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเล เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ และต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับระบบนิเวศบนบก
ขณะที่ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ Blue Carbon Credits ที่ได้จากการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero GHG Emissions ขณะที่การฟื้นฟูระบบนิเวศ BCE ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) หลายประการ อาทิ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และธรรมชาติ การทำประมงที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี
การศึกษาเรื่อง ‘Blue Carbon ทางเลือกในการกักเก็บคาร์บอน และโอกาสทางธุรกิจ’ โดย คุณชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์จาก Krungthai COMPASS ระบุว่า Blue Carbon Ecosystem เป็นระบบนิเวศตามป่าชายเลน ที่ลุ่มน้ำเค็ม ที่ราบน้ำท่วมถึง และหญ้าทะเล มีประสิทธิภาพสูงในการทำหน้าที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอนในรูปของมวลชีวภาพและการทับถมของตะกอนลงสู่ชั้นดินลึกหลายเมตร โดยที่คาร์บอนจะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีในชั้นตะกอน หากสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศไม่ได้ถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ หรือกิจกรรมของคน ต่างจากระบบนิเวศบนบกที่แม้ว่าจะกักเก็บคาร์บอนในชีวมวลได้เช่นกัน แต่จะปล่อยคาร์บอนกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย
ซึ่งผลการวิจัยต่างๆ ที่ผ่านมาชี้ว่า ระบบนิเวศ Blue Carbon มีศักยภาพในการกักเก็บ คาร์บอนได้สูงกว่าป่าไม้ราว 5-10 เท่า เนื่องจากสามารถ ดึงคาร์บอนประมาณ 50-90% ไปกักเก็บไว้ในใต้ดินที่มีน้ำทะเลท่วมขัง ซึ่งช่วยชะลอการเน่าเปื่อยของอินทรีย์วัตถุ และช่วยเพิ่มปริมาณการสะสมคาร์บอนในดิน
สอดคล้องกับงานวิจัยของ McKinsey & Company ในปี 2022 ประเมินไว้ว่า กิจกรรมฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็มรวมทั้งโลก จะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนราว 0.4-1.2 กิกะตัน หรือ 0.4-1.2 ล้านล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2 ) ต่อปี ภายในปี 2050 ขณะที่ต้นทุนสุทธิที่ต้องจ่ายเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจกต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2 ) ของ Blue Carbon เช่น การฟื้นฟู หรืออนุรักษ์ป่าชายเลน หรือหญ้าทะเล ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่า 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 ซึ่งสามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับกิจกรรมการกักเก็บ คาร์บอนในระบบนิเวศบนบก รวมทั้งราคาซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตที่จูงใจ ตามข้อมูลของ Abatable พบว่าราคาคาร์บอนเครดิตจาก Blue Carbon โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 ขณะที่โครงการบางประเภทมีราคาซื้อขายสูงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 เลยทีเดียว
ทั้งนี้ ระบบนิเวศ Blue Carbon กระจายตัวอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่ราว 185 ล้านเฮกตาร์ และมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้สูงกว่า 3 หมื่นล้านล้านตันคาร์บอน ขณะที่ประเทศไทยมีระบบนิเวศ Blue Carbon ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเล ซึ่งอยู่ตามจังหวัดชายฝั่งทะเลหรือหมู่เกาะต่างๆ โดยการประเมินของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่า ไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนราว 1.74 ล้านไร่ โดยบางส่วนจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูจากการบุกรุกและใช้ประโยชน์รูปแบบต่างๆ พร้อมประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งหญ้าทะเลอยู่ราว 160,628 ไร่ ขณะที่ข้อมูลในปี 2564 ที่ผ่านมา มีพื้นที่หญ้าทะเลเพียง 99,325 ไร่ แสดงว่ายังมีพื้นที่อีก 38% ที่สามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลายเป็นระบบนิเวศที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้
ทำให้ ทช. เดินหน้า “โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” ในพื้นที่ 23 จังหวัดจำนวน 3 แสนไร่ ระหว่างปี 2565 – 2574 และในปีที่ผ่านมา ได้จัดสรรพื้นที่ 4.1 หมื่นไร่ ให้ภาคเอกชน 14 ราย เข้าร่วมโครงการ เพื่อรับประโยชน์จากการชดเชยคาร์บอนเครดิตในอนาคต ทั้งการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือสร้างรายได้การการขายคาร์บอนเครดิต โดยพบว่าป่าชายเลนมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4 ตันคาร์บอนไดออกไซต่อไร่ต่อปี ซึ่งหากโครงการดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 3 แสนไร่ คาดว่าจะได้ปริมาณคาร์บอนที่กับเก็บไว้ในระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี และเกิดคาร์บอนเครดิตอย่างต่ำ 28 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นโอกาสของภาคธุรกิจที่สามารถนำไปทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถพิชิตเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net-Zero GHG Emissions ได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ การฟื้นฟูระบบนิเวศ BCE ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) หลายประการ อาทิ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และธรรมชาติ การทำประมงที่มีความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และส่งเสริมอาชีพให้กับคนในชุมชนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่า 4.8 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว