เพราะการให้ความรู้คืออีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นภารกิจคิดเผื่อจากเอไอเอสที่ต้องการส่งมอบความรู้ – ทักษะบนโลกออนไลน์ให้กับคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง
เริ่มตั้งแต่การเปิดตัว “อุ่นใจไซเบอร์” ในปี 2019 ที่มาพร้อม AIS Secure Net และการจับมือกับ Google แนะนำเครื่องมืออย่าง Family Link สำหรับดูแลสมาชิกการใช้งานดิจิทัลภายในครอบครัว
ต่อมาในปี 2021 เอไอเอสได้เริ่มก้าวที่ใหญ่ขึ้น ด้วยการรวบรวมทักษะดิจิทัลที่สำคัญไปสู่ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” พร้อมจัดอบรมครูมากกว่า 1,500 คนทั่วประเทศ ให้มีทักษะดิจิทัล ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวกำลังจะถูกนำไปใช้สอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. อย่างเป็นทางการในปีนี้
อย่างไรก็ดี ภารกิจคิดเผื่อของเอไอเอสที่เริ่มไว้ตั้งแต่ปี 2019 ยังต้องไปต่อ เพราะการให้ความรู้ที่แท้จริงต้องสามารถวัดผลได้ ปี 2023 จึงเป็นอีกหนึ่งปีที่พวกเขาสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม
ด้วยการจับมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และด้านการวัดและประเมินผล สร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลขึ้นมาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในชื่อ “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล” (Thailand Cyber Wellness Index : TCWI) โดยดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลจะแสดงให้เห็นถึงทักษะดิจิทัลที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย
– ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use)
– ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy)
– ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)
– ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights)
– ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety)
– ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying)
– ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship)
ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลจะประเมินคนไทยออกมาได้ 3 ระดับ นั่นคือ ระดับ Advanced ระดับ Basic และระดับ Improvement เพื่อสะท้อนถึงความสามารถในการใช้งานดิจิทัลของประชาชนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ช่วงอายุ และอาชีพต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ด้าน ดร.ดารุวรรณ ศรีแก้ว อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หัวหน้าโครงการวิจัยดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำดัชนีชี้วัดฯ ว่า
“ก่อนที่เราจะสอนเด็กนักเรียน เราจะมีคำถามก่อนว่า เด็กเรามีหน้าตาเป็นอย่างไร เราจะต้องเพิ่มตรงไหนให้เขาถึงจะตอบโจทย์ การพัฒนาเครื่องมือวัดก็เหมือนกัน ก่อนที่เราจะวางแผนพัฒนาคนของชาติในด้านไซเบอร์ เราต้องรู้ก่อนว่าคนในชาติของเราเป็นอย่างไร ขาดความรู้ตรงจุดไหน ซึ่งผลที่ได้จากดัชนีชี้วัดฯ สะท้อนให้เห็นว่า แต่ละคน แต่ละกลุ่มอาชีพ ช่วงอายุ ต้องการการเสริมทักษะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”
เปิดโฉมหน้า “คนดิจิทัลไทย” ผ่านดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล
สำหรับผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยในปี 2022 จากกลุ่มตัวอย่าง 21,862 คนทั่วประเทศพบว่า 44.04% ของคนไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ท้าทายมากทีเดียว (อยู่ในระดับพื้นฐาน 33.51% และในระดับแอดวานซ์ 22.45%) และเมื่อพิจารณาจากแกนต่าง ๆ ทั้ง 7 แกน พบว่า แกนที่คนไทยยังขาดทักษะสูงสุด ได้แก่ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล, สิทธิทางดิจิทัล และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล
การประเมินจากช่วงอายุก็พบอินไซต์ที่น่าสนใจ โดยผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) คือกลุ่มที่ต้องได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัล
“ทักษะดิจิทัล” ความรู้ที่วัดผลได้ แต่ต้องใช้เวลา
คุณฉัตรกุล สุนทรบุระ หัวหน้าแผนกงานบริหารภาพลักษณ์องค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอไอเอส ในฐานะหัวหน้าทีมทำงานผู้ผลักดันดัชนีชี้วัดดังกล่าวเผยว่า “การสร้างทักษะด้านดิจิทัลของคนเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา การใช้เวลาในที่นี้หมายถึง เมื่อคนมีความรู้แล้ว เขาสามารถนำความรู้นั้นมาปกป้องตัวเองเวลาที่อยู่บนโลกออนไลน์ได้จริง”
“ที่เอไอเอสเริ่มทำกับกลุ่มเด็กในหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เพราะเรามองว่า ถ้าเด็กมีความรู้ และนำสิ่งที่รู้ไปใช้อย่างถูกต้อง เขาจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 4 ของ SDG ที่ระบุถึงการสร้างหลักประกันว่าทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เอไอเอสมุ่งมั่นมาตลอด และทำมาหลายปีในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดหาเครื่องมือ การให้การศึกษา และแคมเปญล่าสุดคือดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล เพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดีจริง ๆ และดีตลอดไป”
“แคมเปญนี้จึงเป็นแคมเปญระยะยาวที่อยากให้คนไทยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีความรู้ สามารถอยู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย และปัญหาการถูกหลอกลวง จะต้องน้อยลง” คุณฉัตรกุลกล่าวปิดท้าย