ซีพี ออลล์–เซเว่น อีเลฟเว่น ยกทัพภาคีเครือข่ายโรงเรียน–ชุมชน–องค์กรไร้ถัง ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมพลิกโฉมการจัดการขยะบนเกาะ เปิดตัวโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง”
นำร่องแก้ปัญหาขยะล้นกว่า 50 ตันต่อวันของ 3 เทศบาลบนเกาะพะงัน ขยายผล “โครงการต้นกล้าไร้ถัง” ภายใต้ CONNEXT ED ผลักดัน “โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา” ขึ้นแท่นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน สนับสนุนองค์ความรู้ด้าน Reuse, Recycle, Upcycle เปลี่ยนขยะพลาสติกบนเกาะสู่ “อิฐรักษ์โลก” หวังทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ลดปริมาณขยะ 70% พร้อมสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนบนเกาะ
นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า บริษัทในฐานะสมาชิกภาคีเครือข่ายโรงเรียน-ชุมชน-องค์กรไร้ถัง ได้ร่วมกับสมาชิกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศการจัดการขยะ (Waste Management Ecosystem) จัดตั้งโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” แนวคิดการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบาย 7 GO GREEN เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการจัดการขยะระดับพื้นที่ “เกาะ” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มักจะมีปริมาณขยะจำนวนมาก ให้สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรเทาปัญหาขยะซึ่งนับเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญระดับประเทศและโลก
“ปัญหาขยะนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงต่อโลกหลากหลายด้าน ทั้งภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง มหาสมุทรเป็นกรด ปะการังฟอกขาว ความไม่แน่นอนของระบบนิเวศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจมหาศาล ที่ผ่านมา เมื่อปี 2564 ประเทศไทยติดท็อป 5 ประเทศที่มีขยะพลาสติกล้นทะเล เราและเพื่อนสมาชิกภาคีจึงตระหนักดีว่า ทุกภาคส่วนควรต้องร่วมกันแก้ปัญหานี้ จึงเลือกเริ่มต้นโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” ที่เกาะพะงัน ซึ่งพบปัญหาขยะมากถึง 50 ตันต่อวันในพื้นที่ 3 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลเกาะพะงัน เทศบาลตำบลเพชรพะงัน และเทศบาลตำบลบ้านใต้” นายประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการนั้น จะให้โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา หนึ่งในโรงเรียนในโครงการของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ภายใต้การดูแลของซีพี ออลล์ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” มอบองค์ความรู้ด้านการ Reuse, Recycle, Upcycle และเป็นต้นแบบการจัดการขยะแก่ชุมชน ผ่าน 3 หลักการ ลด แยก ขยายเครือข่าย ได้แก่
1. ลด ภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเฉพาะ Single Use Plastic แล้วหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ECO-Packaging โดยมี 7-Eleven บนเกาะพะงันนำร่องใช้แนวคิด “Green Packaging” เปลี่ยนแก้วเครื่องดื่ม All Cafe จากแก้วพลาสติกเป็นแก้วกระดาษที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้, เปลี่ยนไม้ชงกาแฟจากพลาสติกเป็นไม้ที่ทำจากต้นไผ่เพื่อลดการใช้วัสดุประเภท Single-use plastic, ลดการใช้หลอดโดยการเปลี่ยนฝายกดื่ม และ หูหิวกาแฟจากเส้นกก เป็นต้น
2. แยก เพื่อให้เกิดพฤติกรรมในการคัดแยกวัสดุรีไซเคิล วัสดุย่อยสลาย นำไปรีไซเคิล อัพไซเคิล แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดปริมาณขยะมวลรวมลงให้ได้ 70% จากปริมาณขยะก่อนเริ่มโครงการ
3. ขยายเครือข่าย สร้างองค์ความรู้ในการจัดการต่างๆ ผ่านการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ การจัดการขยะ วัสดุรีไซเคิล วัสดุย่อยสลาย โดยหากการดำเนินการที่เกาะพะงันประสบความสำเร็จ อาจมีการขยายผลสู่เกาะอื่นๆ เพิ่มเติม
ด้าน นางภัทรภร พุทธรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฏร์ธานี กล่าวว่า ทางโรงเรียนได้นำ“โครงการต้นกล้าไร้ถัง” โมเดลการจัดการขยะแบบครบวงจร ภายใต้มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ของซีพี ออลล์ มาพัฒนาให้เกิด “เกาะพะงันไร้ถัง” ตามแนวทางโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” โดยเริ่มให้ทุกห้องเรียน ลดและแยกวัสดุอย่างละเอียด พร้อมทั้งต่อยอดองค์ความรู้เป็นวิธีการ Upcycle ขยะพลาสติกสู่ “อิฐรักษ์โลก” เพื่อขยายผลเป็นวิสาหกิจโรงเรียน-ชุมชนในอนาคต
“เราแปรรูปขยะพลาสติกกำพร้าในโรงเรียน เช่น ซองขนม เปลือกลูกอม บรรจุหีบห่อ หรือที่เป็นขยะแห้ง นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เข้าสู่กระบวนการทำ อิฐรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน ยืดหยุ่นดี มาปูเป็นลานกีฬาเอนกประสงค์รักษ์โลกขนาด 80 ตร.ม. เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กลางในการสร้างองค์ความรู้ในการจัดการขยะและคัดแยกวัสดุอย่างถูกต้อง หากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างรายได้จากอิฐรักษ์โลกเข้าสู่โรงเรียนและชุมชนต่อไป” นางภัทรภร กล่าวเสริม
ทางด้าน นายประพันธ์ เดี่ยววนิช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฏร์ธานี กล่าวเสริมว่า ในพื้นที่เทศบาลตำบลเกาะพะงัน พบขยะ 20 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา และชุมชนมาบริหารจัดการขยะบริเวณเกาะกันทุกวันศุกร์จนเป็นกิจกรรมประจำเกาะ ปัจจุบันได้ส่งเสริมโมเดลเกาะพะงันไร้ถัง ด้วยการลดถังขยะ โดยร่วมมือกับโรงเรียน ชุมชน ร้านค้า ในการลดใช้ถุงพลาสติก ลดใช้โฟมหันมาใช้ใบตองแทน ซึ่งได้รับการตอบรับจากชุมชนดีมาก และร้านเซเว่น อีเลฟเว่นบนเกาะถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ น้องแพรว–นางสาวชลลดา บัวสมุย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา กล่าวถึงประโยชน์และแนวทางการต่อยอดองค์ความรู้ว่าเมื่อก่อนมองว่าขยะก็คือขยะ แต่พอทีมงานจาก ซีพี ออลล์ และภาคีเครือข่ายโรงเรียน-ชุมชน-องค์กรไร้ถังมาส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะ ทำให้เห็นคุณค่าของขยะมากขึ้น มองเป็นวัสดุชิ้นหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ โดยหลังจากนี้จะเริ่มไปจัดการขยะที่บ้านของตัวเอง แยกเป็น 3 ประเภท คือ ขวดพลาสติก ขยะจากเศษอาหาร และขยะพลาสติกทั่วไป
โครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” เกิดขึ้นจากนโยบาย 7 Go Green เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมงของ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ESG ตอกย้ำความเป็นผู้นำร้านสะดวกซื้อเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อร่วมสร้างสังคมสีเขียว อาทิ โครงการลดวันละถุง…คุณทำได้ ที่ลูกค้าปฏิเสธถุงพลาสติกที่ร้าน 7-Eleven, โครงการปลูกป่า ปลูกอนาคต เพื่อเพิ่มพื้นที่เขียว, โครงการต้นกล้าไร้ถัง ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการขยะ ผ่านการปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่เยาวชน มีความรับผิดชอบต่อสังคมสู่โครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” ในครั้งนี้