วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เผยผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ (86%) ตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
จากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2565 ของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study) ซึ่งจัดทำโดย CLEAR ในนามของวีซ่า ระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2565 ใน 7 ประเทศ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 6,550 คน รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศไทยจำนวน 1,050 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาท ชี้ให้เห็นว่าเกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (43%) เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดผลกระทบแล้วในชีวิตประจำวัน โดยอีก 43% วางแผนที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อซื้อสินค้าในอนาคต
การศึกษาฉบับนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า 89% ของผู้บริโภคชาวไทยเลือกที่จะชำระเงินแบบไร้เงินสดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การชำระผ่านบัตร โมบายวอลเล็ต หรือโมบายแบงค์กิ้ง ซึ่งเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเงินสดหรือคริปโตเคอร์เรนซี นอกจากนี้เกือบครึ่ง (48%) ยังเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบในราคาและคุณภาพที่เท่ากัน โดยอีก 23% ยอมจ่ายมากขึ้นให้แก่บริษัทที่ใส่ใจและให้คุณค่าเรื่องความยั่งยืน
ซีรีน เกย์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “วีซ่า เล็งเห็นผู้บริโภคในประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาคกำลังสนใจเรื่องความยั่งยืน และเลือกที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเราได้สนับสนุนการสัญจรในเมืองแบบคาร์บอนต่ำตลอดจนร่วมมือกับพันธมิตรธนาคารเพื่อพัฒนานวัตกรรมในการเพิ่มความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการชำระเงิน ในฐานะเครือข่ายการให้บริการการชำระเงินระดับโลก เราอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่แสวงหาบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านให้ประเทศไทยก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) โดยปีที่ผ่านมาเราได้เปิดตัว Visa Eco Benefits โซลูชันทางการเงินที่สามารถคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการใช้จ่ายผ่านบัตรของพวกเขา และยังสามารถเลือกกิจกรรมการชดเชยคาร์บอน (carbon offsetting) หรือเลือกบริจาคเพื่อการกุศล ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันของธนาคารที่ใช้บริการได้อีกด้วย”
โดย 3 ใน 4 ของผู้บริโภคชาวไทย (75%) เลือกที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรที่ผลิตจากวัสดุรักษ์โลก ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในการริเริ่มเพื่อความยั่งยืนที่เสนอโดยผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน และผู้บริโภคชาวไทยยังต้องการทราบถึงเคล็ดลับและข้อมูลเกี่ยวกับการบริโภคเพื่อความยั่งยืนแบบเฉพาะบุคคลอีกด้วย (74%) นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสที่จะบริจาคเพื่อการกุศลในทุกการใช้จ่ายผ่านบัตร (71%) และหาโอกาสที่จะชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผ่านโครงการปลูกป่าหรือการใช้พลังงานสะอาด (69%)
นอกจากนี้ มากกว่า 4 ใน 5 ของผู้บริโภคชาวไทย (82%) ประสงค์จะบริจาคด้วยคะแนนสะสมเพื่อสิ่งที่มีความหมายยิ่งขึ้นกว่าการแลกของรางวัล โดยเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (56%) พร้อมที่จะบริจาคด้วยคะแนนสะสมบางส่วน ในขณะที่หนึ่งในสี่ (26%) ของผู้ตอบแบบสอบถามพร้อมบริจาคคะแนนสะสมทั้งหมด
สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม 3 อันดับแรก ที่ผู้บริโภคชาวไทยพร้อมที่จะบริจาคคะแนนสะสมของพวกเขา คือ โครงการบริหารจัดการขยะและการรีไซเคิล (50%) การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (46%) และการลดมลพิษทางอากาศและทางน้ำ (43%) ขณะที่ประเด็นด้านสังคมสามอันดับแรกที่ผู้บริโภคชาวไทยต้องการเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นผ่านการบริจาคคะแนนสะสมของพวกเขา คือ ด้านสาธารณสุข (22%) การบรรเทาภัยพิบัติ (20%) และการศึกษาเท่าเทียม (12%)