กระแส Hallyu หรือ Korean wave กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก จากการให้ความสำคัญกับสื่อบันเทิงและวัฒนธรรมในประเทศของเกาหลีใต้ โดยจากการจัดอันดับ Global Soft Power Index ของ Brand Finance เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ระบุว่า ความแข็งแรงด้าน Soft Power ของเกาหลีใต้ในปีล่าสุดนี้ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเติบโตผ่าน Soft power ได้มากขึ้น ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมสื่อและความบันเทิง (K-content) 2.เครื่องสำอางและความงาม (K-beauty) 3.อาหาร (K-food) และ 4.การท่องเที่ยว (K-travel) โดย K-content ถือเป็นแกนนำในการส่งออก ซึ่งข้อมูลของ Korea Creative Content Agency ในปี 2565 มูลค่าการส่งออก K-Content ทั้งอุตสาหกรรมเพลงเกาหลี ละคร ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์และเกม อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.42% จากปี 2564 ถือเป็นการสร้างสถิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ คุณยุน ซอกยอล มีแผนผลักดันสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้ให้มีมูลค่าส่งออกถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2570 และจะขยายการส่งออกไปอีกหลายประเทศ เพื่อเพิ่มความนิยมต่อ K-content จากทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของขนาดการส่งออกและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อีกมหาศาล จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ K-content เชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของแฟชั่น การท่องเที่ยว อาหาร และไอที
โดยรัฐบาลจะสนับสนุนทางการเงินสูงถึง 7.90 แสนล้านวอน เพื่อส่งเสริมตัวแทนของ K-Content ที่อยู่ในตลาดโลก เช่น K-Pop เกม ละคร ภาพยนตร์และเว็บตูนอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดตั้งระบบการบริหารอุตสาหกรรมสื่อและคอนเทนต์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขยายสาขาต่างประเทศของหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น แฟชั่น สินค้าเพื่อความงาม ผ่าน K-Expo รวมไปถึงการเข้าไปสนับสนุนสตาร์ทอัพและการร่วมลงทุนต่างๆ เป็นต้น
วางกลยุทธ์ 3E ขยายแนวรบ K-content
รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายขยายตลาด K-content ไปยังตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งสื่อของเกาหลียังไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย โดยใช้หลักการ 3E ได้แก่
Expansion : การขยายตลาดใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเปิดทางให้ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของเกาหลีเติบโตในตลาดต่างประเทศ เช่น การจัดงาน K-Content Expo ในสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรในปีนี้ รวมทั้งการศูนย์บริการธุรกิจต่างประเทศของ Korea Creative Content Agency (KOCCA) เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการขยาย K-content ในต่างประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการวางแผนที่จะร่วมกันส่งเสริมเนื้อหาเชื่อมโยงกับเครื่องสำอาง หรืออาหาร ที่สอดคล้องกับกระแส Hallyu โดยการใช้ศูนย์ประชาสัมพันธ์ K-Brand Overseas Public Relations Center
Extension : การขยายขอบเขตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เช่น การสนับสนุนการ์ตูนบนเว็บ บริการสตรีมมิ่งออนไลน์และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต อย่างเช่น Metaverse และ AI เช่น Chat GPT ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคอนเทนต์ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่อาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ซึ่งภาครัฐจะลงทุนราว 1.35 แสนล้านวอน ในงบประมาณการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้ในวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวได้ รวมทั้งการจัดตั้ง K-Content Metaverse World เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการเผยแพร่ K-content ผ่าน Metaverse เช่น เกมที่มีภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริง คอนเสิร์ต และสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
Effect : การต่อยอดจากการเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ที่มีอิทธิพลในเชิงบวกต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สินค้าอาหาร แฟชั่น ความงาม เครื่องใช้ในบ้าน และไอที เช่น การเปิดเผยชื่อสินค้าที่อยู่ในสื่อบันเทิง หรือคอนเสิร์ตต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้วางเป้าหมาย 5 ปี หรือภายในปี 2570 หลังจากผลักดันให้มีการเติบโตของ Soft Power ผ่านการขับเคลื่อนในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ไว้ดังต่อไปนี้
- ศูนย์บริการธุรกิจในต่างประเทศของ Korea Creative Content Agency (KOCCA) จะขยายถึง 50 สาขา
– รัฐบาลคาดว่ายอดจำหน่าย (Total Sales) ของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นจาก 137 ล้านล้านวอนในปี 2564 เป็น 200 ล้านล้านวอน หรือมากกว่า 5.4 ล้านล้านบาท
– นอกจากนี้ ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวที่ได้รับอิทธิพลจาก K-content คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 4.66 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีผู้ชื่นชอบกระแส K-Wave เพิ่มเป็น 360 ล้านคนทั่วโลก
– คาดว่าขนาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเพิ่มมูลค่าจาก 108 ล้านล้านวอน เป็น 180 ล้านล้านวอน และจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 5 ล้านคน เพิ่มเป็น 30 ล้านคน
– จากนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรม คาดว่าจะขยายรายการมรดกโลกได้ถึง 65 แห่งและจะส่งผลดีต่อกระแส Korean wave การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของเกาหลีด้วย
– ขยายตลาดอุตสาหกรรมกีฬาจาก 5 ล้านล้านวอน ให้ถึง 100 ล้านล้านวอน หรือเติบโตขึ้นได้ราว 20 เท่า
ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ