เยาวชนกลุ่ม NEET (Youth Not in Employment, Education, or Training) หรือเยาวชนกลุ่มอายุตั้งแต่ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่น่ากังวล รวมทั้งยังเป็นความท้าทายสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการผลิต และความสามารถในการแข่งขันของหลายๆ ประเทศ หากยังปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก “งานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทย” ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อไตรมาสแรกของปี 2566 จากโครงการวิจัยร่วมระหว่างองค์การยูนิเซฟประเทศไทย, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงแรงงาน ซึ่งนับเป็นงานศึกษาเชิงลึกชิ้นแรกของประเทศไทย ที่นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับกลุ่มเยาวชน NEET เพื่อมองหาปัจจัยที่ทำให้เยาวชนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน รวมทั้งชี้ให้เห็นช่องว่างของนโยบายและบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนนำเสนอแนวทางแก้ไขเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว
จากการศึกษาพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า กลุ่ม NEET กลายเป็นปรากฏการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยปัจจุบันมีเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี มากกว่า 1.4 ล้านคน ที่เป็นกลุ่ม NEET หรือคิดเป็น 15% ของเยาวชนทั้งหมด โดยเกือบ 7 ใน 10 ของเยาวชน NEET ในประเทศไทย ออกจากโรงเรียนและตกงานเพราะขาดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะหรือหางานทำ เพราะรู้สึกว่าตนเองขาดโอกาสทำให้เยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาและตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่า จำนวนเยาวชนที่อยู่ในตลาดแรงงานลดลงจาก 4.8 ล้านคน ในปี 2554 เหลือ 3.7 ล้านคน ในปี 2564 โดยอัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี เพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในปี 2554 เป็น 6.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 สูงกว่าอัตราการว่างงานของวัยผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ที่ 0.7% เช่นเดียวกับอัตราการว่างงงานของเด็กจบใหม่เองก็เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยพบว่ามีจำนวนผู้เรียนจบปริญญาตรีในปี 2564 ว่างงานถึง 2.9 แสนคน
ทั้งนี้ พบว่าสาเหตุที่ทำให้เยาวชนกลายเป็นกลุ่ม NEET นั้น มีความซับซ้อนและมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพศ เชื้อชาติ สุขภาพ ระดับการศึกษา การขาดโอกาสและแรงสนับสนุน สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการทำงานที่ไม่ตรงกับความสามารถ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงในการเป็น NEET
รศ.ดร.รัตติยา ภูลออ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ระบุสาเหตุของการเกิดกลุ่ม NEET โดย 68% ระบุว่า ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะหรือหางานทำ เพราะรู้สึกว่าตนเองขาดโอกาส หรือเรียนไปแล้วไม่เห็นอนาคตจนเกิดความท้อ เช่นเดียวกับเรื่องเพศที่มีผลเช่นกัน โดยพบว่าเพศหญิงมีโอกาสเป็น NEET มากกว่าเพศชาย ซึ่ง 70% ของเยาวชนกลุ่ม NEET จะเป็นผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่ออกจากโรงเรียนเมื่อตั้งครรภ์หรือมีภาระต้องดูแลคนในครอบครัว
รวมทั้งปัญหาเรื่องความยากจนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มคนพิการ หรือกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ถูกด้อยค่าจากสังคม ทำให้ไม่มีโอกาสเรียนและเข้าทำงานได้
นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนที่มีโอกาสได้เรียนจบปริญญาตรีหลายคนที่ต้องเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ เนื่องจาก ทักษะที่เรียนจบมา ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรืออาจมีความเบื่อหน่ายในระบบของการทำงานจึงเลือกที่จะไม่ทำงาน และไม่ศึกษาต่อ
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญกับปัญหานี้ แต่เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเทรนด์โลกที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น โดยผลที่ตามมาในอนาคต คือ กาถดถอยของระบบสังคมและระบบเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชน และครอบครัวยังไม่สามารถหาทางออกของปัญหานี้ได้
ความเห็นจากองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โดย คุณคยองซอน คิม กล่าวว่า เยาวชนกลุ่ม NEET ที่เพิ่มมากขึ้นถือเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยปัจจุบันมีสัดส่วนผู้อายุมากกว่า 60 ปี มากถึง 20% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของประชากรดังกล่าว ยังทำให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น และทำให้อัตราส่วนประชากรที่เข้าสู่ตลาดแรงงานลดจำนวนลง ส่งผลกระทบระยะยาวต่อความก้าวหน้าของประเทศในด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับเด็กและเยาวชนในอนาคตต้องมีความสามารถ มีทักษะ และมีศักยภาพมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ทั้งจากการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การฝึกอบรมทักษะที่ตอบสนองความต้องการและเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในโลกยุคใหม่
รายงานยังระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ถดถอย การตกงาน หรือการหางานที่ยากขึ้นและใช้เวลานานขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเรียนรู้และการเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะที่ลดลง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เยาวชนเกิดความท้อแท้และขาดแรงจูงใจในการเรียนหนังสือ ฝึกทักษะ หรือหางาน และกลายเป็นกลุ่ม NEET มากขึ้น
สำหรับ ความท้าทายต่างๆ ในการจัดการปัญหาเยาวชนกลุ่ม NEET เช่น การขาดนโยบายร่วม และการขาดการประสานงานหรือการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้บริการต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการจัดหางานมีอยู่อย่างจำกัด แยกส่วน และไม่สอดคล้องกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยผู้นำและความมุ่งมั่นจากผู้กำหนดนโยบายในระดับสูงในการแก้ปัญหาดังกล่าว
ท้ังนี้ เยาวชนกลุ่ม NEET มีความเสี่ยงสูงที่จะยากจนและถูกกีดกันทางสังคม เนื่องจาก เยาวชนเหล่านี้มักขาดวิธีการพัฒนาทักษะและความสามารถของตน ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาโอกาสในการทำงาน การศึกษา และการฝึกอบรม ตลอดจนการส่งเสริมให้สังคมยอมรับเยาวชนด้อยโอกาสจึงเป็นนโยบายที่มีความสำคัญสำหรับรัฐบาลไทยหากประเทศไทยต้องการพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
สำหรับแนวทางในการแก้ไขและลดจำนวนกลุ่ม NEET ในประเทศไทยให้น้อยลงนั้น การศึกษาวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะ เช่น การวางแผนกลยุทธ์ ออกแบบโครงการต่างๆ และกำหนดงบประมาณให้คุ้มค่าและตรงกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการประชากรกลุ่ม NEET โดยเฉพาะ ทั้งเรื่องของข้อกฏหมาย นโนบาย หรือกลยุทธ์ต่างๆ รวมทั้งแก้ปัญหาช่องว่างด้านข้อมูลอย่างบูรณาการ ทั้งการเข้าใจปัญหา การชี้วัดเพื่อระบุกลุ่มเป้าหมาย ติดตามและประเมินผลในระยะยาว เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการหลุดออกนอกระบบ
ขณะเดียวกัน ต้องปรับการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น ส่งเสริมให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาและไม่เลิกเรียนกลางคัน และส่งเสริม Life Education รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการเสริมทักษะบุคลากรทั้งการ Reskill Upskill ให้สอดคล้องกับการทำงานในระบบปัจจุบันให้มากที่สุด เป็นต้น
อ่านข้อมูลงานวิจัยเชิงลึกเพิ่มเติม
ข้อมูล : Chula Radio Plus รายการจุฬาปริทรรศน์ , องค์การยูนิเซฟ