ไอบีเอ็มชี้ AI คือ กุญแจไขข้อมูลเชิงลึก ที่ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลในทิศทางที่สอดคล้องกัน เพราะเป้าหมายด้าน ESG จะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย หากไม่ได้เชื่อมโยงกับข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรอย่างแท้จริง
IBM Study เผยผลศึกษาจากผู้นำองค์กรทั่วโลกที่มองว่า การมีปริมาณข้อมูลที่น้อยเกินไป หรือการขาดมุมมองเชิงลึกจากข้อมูลที่มีอยู่ คืออุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนหรือ ESG ได้ เนื่องจาก ข้อมูลคือหัวใจสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาที่ท้าทายด้านความยั่งยืน ขณะที่เป้าหมายที่วางไว้จะไร้ความหมาย หากไม่ได้เชื่อมโยงกับข้อมูลการดำเนินงานจริง ซึ่งทางไอบีเอ็มได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อสามารถใช้ AI ช่วยองค์กรแปลงข้อมูลที่มีให้เป็นมุมมองเชิงลึก เพื่อช่วยในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น
คุณแอ็กเนส เฮฟท์เบอร์เกอร์ General Manager และ Technology Leader ของ IBM AEANZK ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันผู้นำองค์กรส่วนใหญ่มองเห็นความสำคัญในการวางเป้าหมายด้าน ESG ในการขับเคลื่อนองค์กร โดยซีอีโอเกือบครึ่ง (48%) มองว่าประเด็นความยั่งยืนเป็นหนึ่งในความจำเป็นเร่งด่วนสูงสุดขององค์กร และมากกว่า 3 ใน 4 (76%) ของผู้บริหารทั่วโลกมองว่า ESG เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดต่อกลยุทธ์ธุรกิจขององค์กร ขณะที่ 7 ใน 10 เชื่อว่าการขับเคลื่อน ESG ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กร มากกว่าที่จะเป็นภาระทางการเงิน พร้อมทั้งได้วางเป้าหมายการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน พร้อมลดการส้รางขยะและการปล่อยมลพิษไปพร้อมกัน
และถึงแม้ว่าจะมีองค์กรถึง 95% ได้วางแนวทางขับเคลื่อนเรื่อง ESG ไว้ แต่มีเพียง 10% เท่านั้น ที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยอุปสรรคสำคัญมาจากการขาดมุมมองเชิงลึกจากข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้ และยังพบว่า 2 ใน 3 ของผู้บริหารด้านไอทีทั่วโลกจากการสำรวจ กำลังมองการนำ AI มาใช้เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในแง่การจัดการกับข้อมูลและการรายงานที่ซับซ้อน ด้วยการใช้ AI ช่วยให้องค์กรสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยั่งยืนที่กระจายอยู่ทั่วทั้งองค์กรได้อย่างง่ายดาย
“หากองค์กรต้องการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน AI จะเป็นเครื่องมือเดียวที่ช่วยจัดการกับข้อมูลมหาศาลที่องค์กรต้องวิเคราะห์เพื่อจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน นั่นหมายความว่า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรเพื่อช่วยไขรหัสข้อมูลจำนวนมหาศาล และบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ คือการมองเรื่องนี้แบบครอบคลุม 360 องศา ไม่ใช่การมองแค่เพียงมิติใดมิติหนึ่ง”
ด้าน คุณอรุณ บิสวัส พาร์ทเนอร์อาวุโสและผู้นำด้านความยั่งยืน ของ IBM Asia Pacific กล่าวว่า การจะบรรลุเป้าหมายด้าน ESG ได้นั้น องค์กรต้องไม่มองว่า ESG เป็นเพียงแนวทางในการจัดทำรายงาน แต่ถือเป็น ‘ปัจจัยในการเพิ่มความโปร่งใส’ ให้องค์กร มุมมองเชิงลึกที่เกี่ยวกับ ESG จะช่วยสร้างโอกาสและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งการศึกษาล่าสุดพบว่า ความเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อข้อมูลด้าน ESG ที่องค์กรต่างๆ ได้เปิดเผยออกมานั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการลดช่องว่างด้านความยั่งยืนให้แก่องค์กรได้อีกด้วย
“ผลศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ESG ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการรายงานหรือปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆ แต่เป็นกลไกที่ช่วยสร้างคุณค่าให้องค์กร พร้อมความสามารถในการบริหารจัดการ ESG อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อผลประกอบการทางธุรกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มของธุรกิจ ขณะเดียวกันยังช่วยลดช่องว่างระหว่างเป้าหมายด้านความยั่งยืนกับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน KPI ด้านความยั่งยืนต่างๆ จากการประมวลผลข้อมูลและมุมมองเชิงลึกแบบเรียลไทม์ “
AI เครื่องมือต่อกรความท้าทายปัญหาด้านความยั่งยืน
มุมมองของไอบีเอ็มที่มีต่อการขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กร ต้องมองมากกว่าแค่มิติเรื่องลดการปล่อยมลพิษ แต่จำเป็นต้องดำเนินงานได้แบบ 360 องศา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการและรายงานข้อมูล ESG รวมถึงการบริหารความเสี่ยง, การบริหารจัดการอาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบ facilities รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ, กรีนไอที และเทคโนโลยีการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน และการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติในห่วงโซ่คุณค่า (circularity) เป็นต้น
ขณะเดียวกันไอบีเอ็มได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าก้าวย่างแห่งเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่ละองค์กรควรเริ่มต้นที่ตรงไหน มุ่งหน้าไปในแนวทางไหน และด้วยวิธีการใด โดยนำ AI เข้ามาใช้เพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทั้งในแง่ธุรกิจ รวมทั้งรับมือกับปัญหาความยั่งยืนมิติต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น
ความร่วมมือกับองค์การนาซ่า (NASA) : เพื่อพัฒนา foundation model สำหรับภูมิสารสนเทศเชิงพื้นที่ โดยข้อมูลจากนาซ่าจะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสู่เป้าหมายการติดตามและปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป แนวทางดังกล่าวจะสามารถนำมาช่วยประเมินความเสี่ยงด้านสภาพอากาศต่อพืชผล อาคารบ้านเรือน หรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน การมอนิเตอร์ป่าสำหรับโครงการการชดเชยคาร์บอน (carbon offset) รวมถึงการพัฒนาโมเดลการคาดการณ์ต่างๆ เพื่อช่วยให้องค์ กรสามารถวางกลยุทธ์เพื่อบรรเทาความเสี่ยงและรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปได้
เครื่องมือ IBM Cloud Carbon Calculator : เพื่อช่วยเหลือองค์กรในการวัด ติดตาม บริหารจัดการ และรายงานการปล่อยคาร์บอนในด้านที่เกี่ยวกับการใช้ไฮบริดคลาวด์ได้ รวมทั้งการวิเคราะห์แนวโน้มการปล่อยมลพิษและสร้างมุมมองเชิงลึกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการดำเนินการอย่างทันท่วงที เพื่อจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เชื่อมโยงกับเวิร์คโหลดบนคลาวด์ของตน
ความร่วมมือกับ The Reef Company : อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อฟื้นฟูและคืนชีวิตให้กับระบบนิเวศน์ทางทะเล เพื่อคงไว้ซึ่งระบบที่สร้างคุณประโยชน์มหาศาลต่อมนุษย์ ที่รวมถึงการดักจับคาร์บอน ในการนำความสามารถของ generative AI อย่าง watsonx และ foundation models ที่ได้รับการฝึกไว้แล้ว เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลจากหลากหลายแหล่ง อาทิ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลเซ็นเซอร์ใต้น้ำ รวมถึงข้อมูลย้อนหลังต่างๆ เพื่อระบุรูปแบบและคาดการณ์ภัยคุกคามที่เกิดต่อปะการัง แนวทางแบบ proactive ดังกล่าว จะช่วยให้นักอนุรักษ์สามารถดำเนินการต่างๆ ได้ในเวลาที่เหมาะสม รวมถึงวางกลยุทธ์และการดำเนินการเพื่อบรรเทาสถานการณ์และจัดการทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มโฟกัสที่ประเทศโปรตุเกส แต่ก็ได้มีการมองถึงการขยายวงสู่อาเซียนด้วยเช่นกัน