ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC แนะผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือความท้าทาย และลดความเสี่ยงจากต้นทุนด้านพลังงาน ที่ยังมีความผันผวน รวมทั้งมีนวัตกรรมที่ช่วยลด GHG ในกระบวนการผลิต เพื่อแรงกดดันต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในภาพรวม ตามอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ขยายตัว โดยแยกตามประเภทของแต่ละกลุ่มวัสดุ ได้ดังนี้
เหล็ก : ความต้องการใช้เหล็กในประเทศปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัว 6%YOY ตามการเติบโตของภาคการก่อสร้าง และการผลิตรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง 6% ถึง 14%YOY จากราคาพลังงาน และราคาสินแร่เหล็กที่ลดลง ส่งผลให้มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมเหล็กในปี 2023 มีแนวโน้มลดลง 1%YOY
ปูนซีเมนต์ : ปริมาณการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ที่ 4 ล้านตัน (+1.7%YOY) โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐ และเอกชน ขณะที่ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์และปูนเม็ด คาดว่าจะฟื้นตัว 10.5%YOY มาอยู่ที่ 9.3 ล้านตัน ตามการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้างในประเทศคู่ค้า สำหรับราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 3.2%YOY มาอยู่ที่ 1.82 พันบาท/ตัน ตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง
กระเบื้อง : ปริมาณการใช้งานกระเบื้องปูพื้นบุผนังในประเทศปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3%YOY มาอยู่ที่ 226 ล้าน ตร.ม. ตามการเติบโตของการก่อสร้างภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัว รวมถึงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยตามการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน ขณะที่ปริมาณการนำเข้ากระเบื้องมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวราว 2.3%YOY จากความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนการนำเข้ากระเบื้องที่มีแนวโน้มลดลง ตามอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น ทำให้กระเบื้องนำเข้า เข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น
สีทาอาคาร : มูลค่าตลาดสีทาอาคารในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวราว 7%YOY อยู่ที่ระดับ 2.08 หมื่นล้านบาท ตามการเติบโตของการก่อสร้างภาคเอกชน และการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มเติบโตตามการบริโภคภาคครัวเรือน โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยสีทาอาคารจะปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตจากน้ำมันดิบ ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลง จึงทำให้มูลค่าตลาดในปี 2566 เติบโตไม่มากนัก
นอกจากนี้ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างยังต้องเผชิญกับ 2 ความท้าทายสำคัญ จาก ต้นทุนพลังงานที่ยังมีความผันผวน และแรงกดดันจากเทรนด์ ESG โดยคาดว่าต้นทุนพลังงานจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง แม้ปี 2566 ราคาน้ำมันดิบและถ่านหินมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่ยังมีความผันผวนและอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างต้องระมัดระวัง ขณะที่ยังมีแรงกดดันจากเป้าหมายการลด ก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG ในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และแนวโน้มการก่อสร้างอาคารสีเขียว (Green building) ซึ่งส่งผลต่อความต้องการวัสดุก่อสร้างที่มีความรักษ์โลกเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน เป็นแรงกดดันให้ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สำหรับการปรับตัวเพื่อรับมือต่อความท้าทายดังกล่าวเหล่านี่ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ ดังนี้
1. การลดความเสี่ยงจากต้นทุนด้านพลังงานที่ยังมีความผันผวน ด้วยการบริหารจัดการการผลิตและสต็อกสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณคำสั่งซื้อ และความต้องการของตลาด รวมถึงการปรับสูตรการผลิตวัสดุก่อสร้าง เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงโดยยังคงคุณภาพไว้ตามมาตรฐานเดิม
2. การลด GHG ในกระบวนการผลิต เพื่อให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มสัดส่วนของวัสดุรีไซเคิล และได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อีกทั้ง การให้ความสำคัญกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ ทั้งการลดสัดส่วนปูนเม็ด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ทางเลือกใหม่ ๆ จะช่วยให้อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเข้าใกล้เป้าหมายการลด GHG ได้มากขึ้น