บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ได้รับการยกระดับเป็น “A” จาก “BBB” ในการจัดอันดับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environment, Social and Governance หรือ ESG) ของ MSCI ตอกย้ำถึงการจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพ
MSCI หรือ มอร์แกน สแตนลีย์ แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เชี่ยวชาญด้านการจัดทำดัชนีและบทวิเคราะห์อ้างอิงจากงานวิจัย ได้จัดอันดับให้อินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นหนึ่งในร้อยละ 14 อันดับแรกของบริษัท 65 แห่งทั่วโลกในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์พื้นฐาน (commodity chemicals) โดยอินโดรามา เวนเจอร์ส มีผลการประเมินที่อยู่ในควอร์ไทล์สูงสุด (top quartile) ทั้งสิ้น 4 ด้าน ได้แก่ โอกาสในเทคโนโลยีสะอาด การจัดการน้ำ การกำกับดูแลกิจการ และพฤติกรรมองค์กร
อินโดรามา เวนเจอร์ส มุ่งมั่นที่จะลดอัตราการใช้น้ำลงร้อยละ 10 ภายในปี 2568 และร้อยละ 20 ภายในปี 2573 โดยได้พัฒนารายงานการประเมินความเสี่ยงด้านน้ำ นำเสนอความพยายามของบริษัทฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals หรือ UN SDGs) สำหรับการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการ บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางการร้องเรียน (whistleblower) พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และมีนโยบายเกี่ยวกับจริยธรรมทางธุรกิจและการต่อต้านการทุจริต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโอกาสในเทคโนโลยีสะอาด อินโดรามา เวนเจอร์ส อยู่ระหว่างการลงทุนในเทคโนโลยีการรีไซเคิลและวัตถุดิบตั้งต้นเชิงชีวมวล ภายใต้วิสัยทัศน์ 2030 และยังอยู่ระหว่างการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิผลการดำเนินงาน เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน การใช้พลังงานทดแทน และการเลิกใช้ถ่านหิน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2
นายยาช โลเฮีย ประธานคณะกรรมการด้านการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “เราภูมิใจที่ได้รับการจัดอันดับในระดับ ‘A’ ซึ่งตอกย้ำความพยายามของเราในการสร้างความยืดหยุ่นต่อความเสี่ยงด้าน ESG สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กรที่ต้องการร่วมกันยกระดับเคมีภัณฑ์เพื่อโลกที่ดีกว่า”
MSCI ESG Ratings มีเป้าหมายเพื่อประเมินความยืดหยุ่นของบริษัทต่อความเสี่ยงด้าน ESG ในระยะยาว ซึ่งบริษัทต่างๆ จะได้รับการจัดอันดับเปรียบเทียบกันภายในอุตสาหกรรมตั้งแต่ระดับสูงสุด AAA จนถึง CCC โดยประเมินประเด็นสำคัญบนพื้นฐานของรูปแบบการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัท ทั้งนี้ นักลงทุนต่างๆ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และผู้จัดการหลักทรัพย์ มักพิจารณาการจัดอันดับนี้ เพื่อประเมินความเสี่ยงทางการเงินในกระบวนการลงทุนของตน