เมื่อทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกพากันตื่นตัวเรื่องของภาวะโลกร้อน การออกแบบงานก่อสร้างก็หนีไม่พ้นที่จะต้องนำคอนเซปต์ของการรักษ์โลกเข้ามาใช้ในกระบวนการออกแบบและการก่อสร้างด้วย และ “ห้องน้ำ” ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยประหยัดพลังงานได้
ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการทำลาย รวมถึงการเลือกใช้วัสดุ สุขภัณฑ์ ตลอดจนอุปกรณ์ใดๆ ที่จะมีส่วนช่วยทำให้ห้องน้ำ กลายเป็นห้องแห่งความสุขในทุกมิติของสมาชิกทุกคนในบ้านหรืออาคารหลังนั้น และยังเป็นพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนไปได้ในเวลาเดียวกัน คอตโต้ที่ให้ความสำคัญกับการลดการใช้น้ำเพื่อสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2532 จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดจัดเสวนา “Green Bathroom for Sustainable Living” เพื่อการออกแบบที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ด้วยมุมมองขององค์ประกอบตกแต่งภายในบ้านที่รักษ์โลกตั้งแต่ดีไซน์ไปจนถึงทำลาย ในงานสถาปนิก 2023 ที่ผ่านมา โดยแนวคิด COTTO Thinking Built to Last เป็นกระบวนการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนดีไซน์จนทำลาย เพื่อร่วมกันสร้างความเป็นอยู่และสุขภาวะที่ดีของผู้คน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และสามารถหยิบยกเป็นแนวทางในการออกแบบสร้างสรรค์อาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ธนนิตย์ รัตนเนนย์ ที่ปรึกษาสำนักงานกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด กล่าวว่า เมื่อต้องสร้างพื้นที่แห่งความสุขให้ทุกคน ต้องมีแนวคิดว่าจะทำยังไงให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญ โลกอยู่ได้เราอยู่ได้ เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องโลกร้อนเข้ามาใกล้ตัวเราทุกวัน คอตโต้อยากให้คนในวงการได้มีจุดคิดตั้งแต่เริ่มจากการออกแบบสินค้าจนถึงการทิ้งของออกไป เพื่อสามารถทำให้สิ่งแวดล้อมยังคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนไปถึงรุ่นต่อไปที่ต้องใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ ซึ่งคอตโต้เองไม่ได้เพิ่งเริ่มทำ แต่ทำมาสามสิบกว่าปีแล้ว สินค้าที่ผลิตออกมาเป็น Green Process แล้วเป็น recycle material ชิ้นส่วนต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบเราก็เลือกจากโรงงานที่ได้ ISO ซึ่งเป็นแนวทางที่คอตโต้ทำมาโดยตลอด ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาโชว์ในวันนี้ ก็เป็น Green Process ทั้งหมด
เอ๋ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ “นิ้วกลม” ผู้ที่เปรียบเปรยการปรับเปลี่ยน mind set ว่าไม่ต่างอะไรกับการเปลี่ยนแว่นใหม่ที่เมื่อทำให้มองเห็นภาพใหม่ๆ ได้ชัดมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่เรื่องสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นภาพลักษณ์ร่วมสมัยไปแล้ว ทำให้หลายๆ แบรนด์ต้องตื่นตัวตามผู้บริโภคและไม่สามารถสร้างภาพแบบผิวเผินกันได้อีกต่อไป แต่ต้องลงมือทำอย่างจริงจังให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้
“ส่วนตัวแล้วชื่นชมคอตโต้มากๆ กับแนวคิดและแนวทางที่ทำอยู่ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะช่วยกันทำให้โลกยังกลับมาเหมือนเดิมได้ แม้ว่าจะไปไกลแล้วก็ตาม หากคิดว่าห้องน้ำคือพื้นที่ของความสุข ความสุขมันจะเกิดจากความตระหนัก และทุกครั้งที่ใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ผ่านความตระหนักคิดในเรื่องของความประหยัดมาแล้ว ผู้บริโภคก็จะมีความสุขทุกครั้งที่ได้ใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นๆ”
จูน เซกิโน่ สถาปนิกแนวหน้าของไทย เจ้าของผลงานออกแบบอาคารหลากหลายประเภทที่โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย เจ้าของวลี “คิดใหญ่ทำยาก” กับความเชื่อเต็มร้อยที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำกันมานานๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่าคือเรื่องเล็กๆ ใกล้ๆ ตัวที่หากทำซ้ำๆ เดิมๆ ทำบ่อยๆ จนเกิดความเคยชินก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด แบบนี้จะเห็นผลดีกว่ามุ่งเน้นไปกู้โลกที่เป็นเรื่องใหญ่และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรเริ่มทำที่บ้านให้ได้ก่อน
เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เรามองภาพเห็นได้ชัดกว่าในอดีต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ของโลกเราเกิดขึ้นมานานมากแล้ว เป็นเพราะการกระหน่ำใช้ทรัพยากรทุกอย่างมากที่สุดตั้งแต่เกิดมีโลกมา แต่ตอนนี้ก็มีแนวโน้มลดลงเพราะไม่เหลืออะไรให้ทำลายแล้ว จะเห็นว่าบางอย่างหายไปเลยก็มี สำหรับการออกแบบที่ยั่งยืนนั้น มองว่าไม่ใช่เทรนด์แต่เป็นเรื่องของมาตรฐาน อย่างห้องน้ำที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องมี แต่ห้องน้ำในปัจจุบันเป็นมากกว่าห้องน้ำ เพราะคนใช้เวลาในห้องน้ำนานมากขึ้น มีหลายกิจกรรมที่ทำในห้องน้ำ ทำให้การออกแบบต้องคำนึงถึงในหลายๆ มิติ หรือแม้แต่ขั้นตอนการเตรียมวัสดุเพื่อการก่อสร้าง ที่หลายคนมักจะชอบเผื่อวัสดุไว้ในปริมาณมากๆ หากเราเปลี่ยนมุมมองเรื่องนี้ด้วยการเตรียมวัสดุให้พอดีหรือลดปริมาณการเผื่อให้น้อยลง ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยลดการใช้ทรัพยากรลงได้
ดร.ภาณุพันธ์ ผาพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักเกณฑ์การออกแบบเพื่อความเป็นผู้นําทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือ LEED & WELL จาก SCG ผู้ที่เชื่อมั่นว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้จากการเปลี่ยนมุมมอง เพราะเรามีโลกใบเดียวไม่ได้มีหลายใบ จะย้อนอดีตไปทำดีกับธรรมชาติก็ไม่ได้แล้ว ที่ทำได้ในวันนี้คือการตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดตามมาก่อนจะลงมือทำอะไรลงไป ต้องคำนึงในทุกวิถีทางที่จะทำให้ลดการเกิดภาวะต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนของห้องน้ำ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นแนวคิดแบบ green bathroom แต่อยากให้คำนึงถึงทั้งเรื่อง green และ well being คือมีทั้งความกรีนและเป็นมิตรต่อสุขภาพของคนใช้งาน อย่างมาตรฐานอาคารปัจจุบันคือ green building + green bathroom และเรื่อง well being จะดูเรื่องการออกแบบเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีด้วย เช่น สุขภัณฑ์สมาร์ทที่ประหยัดน้ำและลดคราบสะสมเชื้อโรคได้ ก๊อกน้ำที่ลดการสัมผัสใช้น้ำน้อยแต่ยังมีสายน้ำที่เต็มอิ่มนุ่มนวล กระเบื้องทำยังไงให้พื้นลื่นน้อยลง ยุค pm 2.5 ก็มีกระเบื้องที่ดูดกลิ่น ดูดฝุ่น ให้ในห้องน้ำมีความสดชื่นมากขึ้น
เพื่อให้มีพื้นที่แห่งความสุข เราก็ต้องไม่เบียดเบียนโลกใบนี้ด้วย เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง และเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่ทำบ่อยๆ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้อย่างง่ายดาย พร้อมกับมุมมองจากทุกภาคส่วนที่หันมาร่วมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คอตโต้ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลือกที่คำนึงถึงขั้นตอนตั้งแต่ดีไซน์ไปจนถึงขั้นตอนการทำลาย เพื่อช่วยกันทำให้โลกใบนี้ของเรา กลับมาเป็นโลกที่น่าอยู่อีกครั้งหนึ่ง