ไอบีเอ็มชี้ ยักษ์ใหญ่ FMCG 77% เชื่อว่าการลงทุนด้านความยั่งยืนมีส่วนช่วยเร่งการเติบโตให้กับธุรกิจได้ โดยบริษัทส่วนใหญ่มีแผนลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มอีก 34% ตลอด 3 ปีนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่ได้เคยประกาศไว้
ผลการศึกษาในระดับโลกครั้งล่าสุดของ IBM และ The Consumer Goods Forum ในหัวข้อ Redesigning brand values: Purpose and profit converge in core operations จากการสำรวจบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวน 1,800 ราย ใน 23 ประเทศ เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการผสมผสานเป้าหมายด้านความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินงานในธุรกิจ รวมทั้งการวัดมาตรฐานแนวทางในการขับเคลื่อนและการทำรายงานเพื่อวัดผล ตลอดจนแผนในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
โดยผลการศึกษาพบว่า 61% ของบริษัทชั้นนำด้านสินค้าอุปโภคบริโภคมีเป้าหมายด้านความยั่งยืนและแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ขณะที่ 77% เชื่อว่าการลงทุนด้านความยั่งยืนจะสามารถช่วยเร่งการเติบโตให้กับธุรกิจได้ โดยพวกเขามีแผนที่จะเพิ่มงบประมาณสำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอีก 34% ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่ได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้
สำหรับรายละเอียดที่สำคัญบางส่วน จากการศึกษาในครั้งนี้ ประกอบด้วย
– การบูรณาการระหว่างนโยบายความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจ : 61% ของผู้นำในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคจากการสำรวจ มีนโยบายความยั่งยืนที่สอดคล้องไปกับเป้าหมายของธุรกิจ และมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนอย่างเหมาะสม โดย 77% เห็นว่าการลงทุนด้านความยั่งยืนจะสามารถช่วยเร่งการเติบโตของธุรกิจได้ โดยการบูรณาการในเชิงกลยุทธ์นี้ จะส่งผลให้เกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน กระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน และการจัดหาวัสดุอย่างมีจริยธรรม
– แนวทางในการวัดผลและการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน : เกือบ 75% ของผู้นำที่เข้าร่วมการสำรวจ เห็นด้วยถึงความจำเป็นในการหามาตรฐานของวิธีการวัดผลและการจัดทำรายงานถึงเป้าหมายด้านความยั่งยืน แม้ว่าส่วนใหญ่ยังขาดความสามารถในการติดตามและวัดผลความคืบหน้าแบบเรียลไทม์ โดยผลจากการศึกษาตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญในการสร้างข้อมูลพื้นฐานที่น่าเชื่อถือ รวมท้ังการปรับปรุงความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสและมีความเชื่อมั่น
– การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินงานอย่างยั่งยืน : บริษัทส่วนใหญ่กำลังมองหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่เคยประกาศไว้ และสนใจที่จะนำเทคโนโลยีขั้นสูงต่างๆ มาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน อาทิ ระบบอัตโนมัติ 71% , ระบบการวิเคราะห์ข้อมูล 69% , ระบบ Iot 62%, AI 55% , ระบบเวิร์กโฟลวอัจฉริยะ 44%,
ขณะที่ 67% จะทำการปรับปรุงระบบการทำงานในซัพพลายเชน เช่น การประเมินและคาดการณ์อุปทานในระบบ จากการวิเคราะห์อุปสงค์ด้วย AI 69% , การบริหารจัดการสินค้าคงคลังและสต๊อกส่วนเกิน ผ่านการใช้เวิร์กโฟลว์ที่ทำงานด้วย AI 70%, หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น Digital Twins 26%
Luq Niazi Global Managing Partner for Industries แห่ง IBM กล่าวว่า “ปัจจุบันผู้บริโภคมองหาแบรนด์ที่สามารถสะท้อนคุณค่า รวมทั้งผสมผสานนโยบายด้านความยั่งยืนมารวมไว้ในการขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างลงตัว ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแกร่งร่วมกับพันธมิตร รวมท้ังการขับเคลื่อนและทำงานร่วมกันของระดับผู้นำในองค์กร หรือ C-suite collaboration ระหว่างสายงาน ท้ังฝ่ายการผลิต ฝ่ายเทคโนโลยี ฝ่ายปฏิบัติการ ระบบซัพพลายเชน และส่วนงานด้านความยั่งยืน เพื่อให้เกิดการพัฒนาได้แบบองค์รวม
การศึกษาครั้งนี้ยังมีโชว์เคสผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการริเริ่มลงทุนเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนในธุรกิจ และสามารถสร้างประโยชน์กลับคืนให้กับทางธุรกิจได้แล้ว เช่น Levi Strauss, Pandora, Reckitt, Unilever และ Walmart เพื่อเป็นการจุดประกายให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในการเริ่มขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นในธุรกิจของตน