โดยความพยายามล่าสุดนี้จะทำให้ Apple เข้าใกล้วัตถุประสงค์สูงสุดของบริษัทที่ต้องการนำวัสดุรีไซเคิลและหมุนเวียนมาใช้กับทุกผลิตภัณฑ์ของบริษัท ในขณะเดียวกันก็ยังคงพัฒนาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดบรรลุเป้าการเป็นกลางทางคาร์บอน
“ทุกๆ วัน Apple กำลังสร้างนวัตกรรมที่ทำให้เทคโนโลยียกระดับชีวิตของผู้คน ขณะเดียวกันก็ปกป้องโลกที่เราทุกคนมีร่วมกัน” ทิม คุก ซีอีโอของ Apple กล่าว “จากวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ของเราสู่พลังงานสะอาดที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานของเรา งานด้านสิ่งแวดล้อมของเราเป็นส่วนสำคัญในทุกสิ่งที่เราดำเนินงานและเพื่อสิ่งที่เราเป็น ดังนั้น เราจะเดินหน้าในสิ่งที่เราเชื่อว่าเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ควรที่จะดีต่อผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของเรา และดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
การใช้งานโคบอลต์รีไซเคิล
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา Apple ได้เพิ่มการใช้โคบอลต์รีไซเคิลที่ได้รับการรับรอง 100% โดยในปี 2022 หนึ่งในสี่ของการใช้โคบอลต์ทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ของ Apple นั้น มาจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งนับว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 13%
ทั้งนี้ โคบอลต์นับเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ของ Apple เนื่องจากมันสามารถให้ความหนาแน่นของพลังงานในระดับสูงในขณะเดียวกันก็ยังเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและอายุการใช้งานที่เข้มงวดของบริษัท โดยการใช้โคบอลต์ใน Apple ส่วนใหญ่มาจากแบตเตอรี่ที่ได้รับการออกแบบให้กับ iPhone, iPad, Apple Watch, MacBook และผลิตภัณฑ์อื่น
หนึ่งในนวัตกรรมด้านการรีไซเคิลและการแยกชิ้นส่วนของ Apple คือ Daisy หุ่นยนต์แยกชิ้นส่วน iPhone ที่จะทำหน้าที่แยกแบตเตอรี่ออกจากชิ้นส่วนอื่นๆ เพื่อให้บริษัทรีไซเคิลเฉพาะทางสามารถรีไซเคิลโคบอลต์และวัสดุอื่นๆ ซึ่งรวมถึงลิเธียม โดยตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา Apple ประเมินว่ามีโคอลต์จำนวนมากกว่า 11,000 กิโลกรัม ที่ Daisy ได้รีไซเคิลจากแบตเตอรี่และนำกลับเข้าสู่ตลาดทุติยภูมิ นอกจากนี้ Daisy ยังช่วยรีไซเคิลแร่โลหะหายากที่ส่วนใหญ่สูญเสียไปจากกระบวนการรีไซเคิลสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบเก่า เพื่อให้กระบวนการรีไซเคิลมีศักยภาพที่ดีขึ้นได้
แพ็กเกจจิ้งที่ยั่งยืน
Apple ยังตั้งเป้าหมายที่จะไม่ใช้พลาสติกในแพ็กเกจจิ้งให้ได้ภายในปี 2025 โดย Apple ได้พัฒนาเส้นใยทางเลือกสำหรับใช้ในแพ็กเกจจิ้งขึ้นมา เช่น ฟิล์มสำหรับหน้าจอ แร็ปห่อหุ้ม และโฟมกันกระแทก เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งมั่นของบริษัที่ตั้งใจไว้ โดยยังคงมีพลาสติกอีก 4% ที่บริษัทต้องหาทางดำเนินการ เช่น การเปลี่ยนฉลาก และการเคลือบ เป็นต้น
ในปีที่ผ่านมา Apple ยังได้เปิดตัวเครื่องพิมพ์แบบกำหนดเองที่พิมพ์ข้อมูลดิจิทัลลงบนกล่อง iPhone 14 และ iPhone 14 Pro ซึ่งช่วยลดความจำเป็นการใช้งานฉลากนั่นเอง
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ใช้สารเคลือบเงาทับแบบใหม่บนแพ็กเกจจิ้งของ iPad Air, iPad Pro และ Apple Watch Series 8 ที่เข้ามาแทนที่การเคลือบพลาสติกโพลีโพรพอลีนที่มักพบเป็นส่วนประกอบบนกล่องและแพ็กเกจจิ้งอีกด้วย
กล่าวได้ว่า นวัตกรรมทั้งหมดนี้ช่วยให้ Apple ลดการสร้างพลาสติกได้มากถึง 1,100 เมตริกตัน และยังช่วยลดการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกกว่า 2,400 เมตริกตันเลยทีเดียว