‘วัสดุธรรมชาติ’ และ ‘ระบบ Toy Subscription’​​ 2 เทรนด์ความยั่งยืนที่มาแรงในธุรกิจของเล่น ได้ใจ GEN Z ที่ใส่ใจทั้งสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการเด็ก

บริษัทวิจัยการตลาด The NPD Group ​คาดการณ์​การจำหน่ายสินค้าของเล่นและเกมส์ของสหรัฐฯ ในปี 2566 ​จะ​เติบโตขึ้นถึง 31,260 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในช่วงปี 2566-2570 จะมีการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4.51%
ทั้งนี้  ตลาดของเล่นเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนตามแนวทางความยั่งยืน โดยเฉพาะ 2 เทรนด์มาแรงในตลาดสหรัฐ ที่สะท้อนความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ ​ทั้งเทรนด์การผลิตของเล่นด้วยวัสดุจากธรรมชาติที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการมีระบบ Toy Subscription หรือระบบการสมัครเป็นสมาชิก โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้
1. เทรนด์ของเล่นที่ผลิตด้วยวัสดุจากธรรมชาติ
แม้ว่าของเล่นส่วนใหญ่จะทำจากพลาสติก แต่มีของเล่นเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อุตสาหกรรมของเล่นเพียงอย่างเดียวผลิตขยะพลาสติกมากกว่า 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งบริษัท Mattel เป็นบริษัทต้นๆ ที่ให้ความสำคัญกับข้อกังวลในด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยบริษัทให้คำมั่นว่าจะใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ หรือการใช้วัสดุชีวภาพ 100% ในการผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ภายในปี 2573
ซึ่งในเบื้องต้น บริษัทได้เริ่มทำการผลิตของเล่นจากอ้อยและคาดว่าน่าจะมีการพัฒนาสู่วัสดุทางธรรมชาติหรือวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ในอีกหลายรายการ
นอกจากบริษัท Mattel แล้ว ยังมีบริษัท Hasbro มีความมุ่งมั่นในเรื่องความยั่งยืน โดยบริษัทให้คำมั่นว่าจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนประกอบของพลาสติกภายในปี 2565 ซึ่งกระแสความเปลี่ยนแปลงของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสองน่าจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตของเล่นและบรรจุภัณฑ์ในอนาคตต่อไป

2. ระบบการสมัครสมาชิกเพื่อรับของเล่นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉลี่ยชาวอเมริกันใช้จ่ายในการซื้อของเล่นในช่วงวัยเด็ก ประมาณ 6,500 เหรียญสหรัฐต่อคน ดังนั้น การสมัครสมาชิกหรือ Toy Subscription  เพื่อรับของเล่นอย่างต่อเนื่องก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในเชิงเศรษฐศาสตร์ และรูปแบบธุรกิจทางเลือกใหม่นี้ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญที่จะเข้ามามีบทบาทในตลาดของเล่นในอนาคตต่อไป ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบโดยตรงกับรูปแบบการจำหน่ายของเล่นแบบดั้งเดิม
แนวคิดของ Toy Subscription  คือ การเป็นสมาชิก โดยการสมัครสมาชิกมีตั้งแต่รายเดือน และรายปี ตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งราคาของการสมัครสมาชิกต่อเดือน มีตั้งแต่ 18-30 เหรียญสหรัฐ ตามประเภทของของเล่นและความถี่ในการรับสินค้า
โดยบริษัทในนรูปแบบ Toy Subscription​ ที่น่าสนใจในสหรัฐฯ เช่น  KiwiCo, Green Piñata, MEL Kids, Lovevery, Sago Mini Box, Toy Box Monthly เป็นต้น ซึ่ง​บริษัทเหล่านี้มีการเติบโตอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพ่อแม่ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Z วัยทำงานที่มีความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของเด็ก
นอกจาก 2 เทรนด์หลักที่เกี่ยวเนื่องกับการขับเคลื่อนความยั่งยืนในอุตสาหกรรมของเล่นแล้ว ยังมีเทรนด์อื่นๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดของเล่นในสหรัฐเติบโต ไม่ว่าจะเป็น
กระแสนิยมกล่องสุ่ม ที่ส่งผลให้การซื้อสินค้าโดยที่ไม่รู้ว่าสินค้าข้างในเป็นอะไรกลายมาเป็นกระแสนิยมแบบมหภาค โดยแนวคิดหลักของการเปิดกล่องสุ่ม คือ การสร้างประสบการณ์ที่ตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค โดยผู้บริโภคจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสิ่งที่จะได้รับคืออะไร ส่งผลให้วิธีการเปิดกล่องสุ่มดังกล่าวกลายมาเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทผู้ผลิตของเล่นได้เผยแพร่ออกมาและการมาเป็นเทรนด์ยอดนิยมในตลาดเช่นกัน
การพัฒนาเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้นให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น การพัฒนาของเล่นที่ผสมผสานเทคโนโลยีกับพื้นฐานการเรียนรู้ผ่านการเล่นจริง ซึ่งสามารถจับต้องได้บนความสนุกแบบดิจิตอล ​
ของเล่นที่มีคุณค่าทางการศึกษาและช่วยเสริมสร้างเสริมทักษะให้กับเด็ก โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ​ทำให้ผู้ปกครองต้องทำหน้าที่เป็นครูของลูกในเวลาเดียวกัน บริษัทของเล่นหลายแห่งจึงได้นำเสนอสินค้าเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง

การขยายตัวของของเล่นในกลุ่มคลาสสิก โดยอุตสาหกรรมของเล่นได้รับแรงจูงใจจากการแนะนำสินค้าจากพ่อแม่สู่ลูก โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของเล่น คาดการณ์ว่ายอดขายของเล่นคลาสสิกอาจจะมาจากการที่ผู้ปกครองต้องการที่จะชดเชยความสูญเสียบางส่วนในตอนที่เป็น เด็กๆ ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นวิดีโอเกมตั้งแต่อายุยังน้อย จึงได้มองหาสินค้าในยุคของตนเพื่อมาแนะนำให้กับลูกได้รู้จัก และมีประสบการณ์ร่วมกับยุคสมัยของตน
Stay Connected
Latest News