ถือเป็นหนึ่งองค์กรที่วางรากฐานเพื่อสร้างการเติบโตมาตลอด 90 ปี ได้อย่างชัดเจนและแข็งแกร่ง สำหรับ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่ให้ความสำคัญกับการส่งมอบคุณค่าจากธุรกิจไปสู่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต ภายใต้แนวคิด “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำให้ธุรกิจกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมได้อย่างกลมกลืน ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งในทุกๆ พื้นที่ที่ได้เข้าไปอยู่ พร้อมทั้งได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ที่ไม่เพียงเข้าไปช่วยสร้างการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจให้พื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน รวมถึงการมีส่วนช่วยในการรักษาและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดี รวมทั้งภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นให้ยังคงอยู่ เพื่อสามารถส่งต่อได้จากรุ่นสู่รุ่น
‘แปลงนาสิงห์บุรี’ พื้นที่ต้นแบบแห่งการเรียนรู้
เช่นเดียวกับ บริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด หรือ โรงงานสิงห์บุรี อีกหนึ่งโรงงงานหลักในเครือบุญรอดฯ กับการทำหน้าที่พลเมืองสิงห์บุรี ด้วยการพัฒนาพื้นที่บริเวณด้านหน้าโรงงานจำนวน 16 ไร่ ให้เป็นแปลงนาอินทรีย์ ซึ่งมีความหมายมากกว่าแค่ที่สำหรับใช้ในการปลูกข้าว แต่เป็นพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้รากเหง้าและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่โดดเด่นอันเป็นอัตลักษณ์และเสน่ห์ของสิงห์บุรี โดยเฉพาะภูมิปัญญาของการปลูกข้าวแบบดั้งเดิมที่ชาวสิงห์บุรีได้สืบทอดและรักษากันมากว่าร้อยปีแล้ว
ทำให้ผืนนาขนาด 16 ไร่ บริเวณหน้าโรงงานสิงห์บุรี เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มากกว่าแค่ ‘ข้าว’ แต่มีทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ชุมชน และองค์กร ตลอดจนภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมของชาวสิงห์บุรี โดยเฉพาะความเชื่อของเกษตรกรไทยที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษถึงการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตงอกงามดี ที่นอกจากต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่แล้ว ยังมีเรื่องราวที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ โดยเฉพาะการบูชา ‘พระแม่โพสพ’ ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นเทพธิดาประจำข้าว ทำหน้าที่ในการปกปักรักษาผืนนาและรวงข้าวให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ
ดังนั้น อีกหนึ่งบทบาทของแปลงนาอินทรีย์ผืนนี้ คือการเป็น ศูนย์เรียนรู้ หรือ Learning Space เป็นพื้นที่ช่วยส่งต่อองค์ความรู้เรื่องการปลูกข้าวแบบโบราณดั้งเดิม ที่ไม่ใช่แค่รู้วิธีการปลูก เก็บเกี่ยว และนำไปขาย แต่ได้รู้ไปถึงเรื่องราวสวยงามที่อยู่เบื้องหลังทุกกระบวนการจนกว่าจะได้ข้าวแต่ละเมล็ดมาให้เราได้รับประทาน ล้วนสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ ความผูกพันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติที่ซ่อนไว้ รวมทั้งช่วยหลอมรวมผู้คนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น โดยมีแปลงนาผืนนี้เป็นผู้เชื่อมโยงผู้คนในจังหวัด ทั้งนักเรียน เกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน มาร่วมกันส่งต่อ เรียนรู้ และสืบสานวัฒนธรรมการปลูกข้าวของชาวสิงห์บุรีให้คงอยู่สืบไป
โดยเฉพาะการรักษาพิธีกรรมระหว่างการปลูกข้าว ซึ่งหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน ตั้งแต่การบูชาพระแม่โพสพเพื่อขอขมาและขอพรตั้งแต่ก่อนการเพาะปลูก จนกระทั่งปักดำนา และพิธีรับขวัญข้าวในระหว่างที่ข้าวออกรวง ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นช่วงที่พระแม่โพสพในข้าวกำลังตั้งท้อง และต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ จึงต้องเชิญหมอทำขวัญข้าวอย่างคุณยายสมาน ฉิมพาลี หนึ่งในปราชญ์ชุมชนที่มีความเชี่ยวชาญในการตั้งเครื่องบูชาพระแม่โพสพ และเป็นหมอทำขวัญข้าวที่มีอายุมากที่สุดใน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี มาช่วยทำพิธี รวมถึงพิธีกรรมในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว การนวดข้าว เกี่ยวข้าว และเฉลิมฉลองเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก แสดงถึงความกตัญญูอ่อนน้อมที่มีต่อข้าว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความเป็นคนไทยด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ‘ข้าวเมืองสิงห์’ จึงเป็นผลผลิตจากแปลงนาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของวัฒนธรรม น้ำ และข้าว ซึ่งไม่เพียงทำให้ผู้คนในพื้นที่รวมถึงคนไทยทุกคนได้อิ่มท้อง แต่ยังเป็นตัวแทนการส่งต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สานต่อกันมาแบบรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
มากกว่าปลูก ‘ข้าว’ แต่ปลูก ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’
คุณบุญเลิศ นาคอุไร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีความสมบูรณ์ของพืชพรรณอาหาร ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ รวมทั้งมีวิถีชีวิตที่เกื้อกูล พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมายาวนาน เช่นเดียวกับสิงห์บุรีซึ่งเป็นหนึ่งในที่ตั้งของโรงงานและถือเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำ ผู้คนทำอาชีพเกษตรกรรมมากว่าร้อยปี โดยเฉพาะการทำนา บริษัทจึงมีแนวคิดเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณหน้าโรงงาน เพื่อสร้างประโยชน์ให้ชุมชนและผู้คนได้มากกว่า รวมทั้งเข้าไปเป็นหนึ่งฟันเฟืองของการพัฒนาและสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้ชุมชนและสังคม โดยใช้การปลูกข้าว ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ในชุมชน รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความภูมิใจและเข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง
ทำให้โรงงานแห่งนี้ จึงเป็นมากกว่าแค่โรงงาน แต่คือพื้นที่บ่มเพาะความสุข บ่มเพาะความสามัคคีและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในพื้นที่ จากการร่วมถ่ายทอดภูมิปัญญา เรียนรู้และลงมือทำ รวมถึงเรียนรู้เรื่องของการแบ่งปัน ด้วยการนำผลผลิตที่ได้คืนกลับสู่ชุมชน ด้วยการนำไปมอบให้ผู้สูงอายุในชุมชนในช่วงเทศกาลต่างๆ มอบให้โรงเรียนสำหรับโครงการอาหารกลางวัน รวมทั้งนำบางส่วนไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้มาสนับสนุนและขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ของบริษัทต่อไป
และไม่ใช่เพียงแค่องค์ความรู้ ในเรื่องของการปลูกข้าวเท่านั้น แต่โรงงานสิงห์บุรียังให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนและสังคมในมิติอื่นๆ อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตของผู้คนรวมทั้งสภาพแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะการปรับปรุงพัฒนากระบวนการในการผลิตเพื่อลดผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของพนักงาน และช่วยดูแลสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดของรถยกสินค้าในโรงงาน โดยหันมาใช้แบตเตอรี่ลิเทียมแทนการใช้แก๊ส ช่วยลดมลพิษไอเสียจากเครื่องยนต์ ลดฝุ่น ลดมลภาวะทางเสียง รวมทั้งลดความร้อนที่เกิดจากเครื่องยนต์ ทำให้อุณหภูมิโดยรอบเย็นลงได้
หรือแม้แต่การให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า มีการบำบัดอย่างถูกต้อง จนสามารถนำน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตและบำบัดแล้วมาใช้หมุนเวียนในการทำนา ทำให้สามารถปลูกแปลงข้าวของโรงงานได้ตลอดทั้งปี และผลผลิตที่ได้จะนำไปแจกจ่ายให้ชุมชน ส่วนเศษวัสดุทางการเกษตรที่หลงเหลือ เช่น ฟางข้าว หรือแกลบ ทางโรงงานได้ต่อยดมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ สำหรับปลูกผักปลอดสารพิษในสวนเกษตรอินทรีย์ของโรงงานได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่ผลผลิตที่ได้ทั้งจากแปลงนารวมทั้งในแปลงเกษตรอินทรีย์ ทั้ง พืช ผัก และผลไม้ จะส่งคืนกลับสู่ให้ชุมชนผ่านรถพุ่มพ่วงที่จะวิ่งให้บริการแก่ชุมชนที่อยู่โดยรอบของโรงงาน
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างแนวร่วมในชุมชนเพื่อร่วมกันปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การเฝ้าระวังผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างปัญหาไฟป่า หรือน้ำท่วม และการมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ผู้คน รวมทั้งเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ผ่านการสนับสนุนกีฬาต่างๆ เช่น มวย ฟุตบอล หรือการจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อการกุศลต่างๆ เพื่อมอบความสุขและความแข็งแรงให้ทุกคนในชุมชนอย่างทั่วถึง
เห็นได้ว่า ทุกๆ การขับเคลื่อนของโรงงานสิงห์บุรี หรือ บริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด สอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ของทางบุญรอดบริวเวอรี่ ตามแนวทาง “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน” ทำให้สามารถพลิกฟื้นที่ดินว่างเปล่าหน้าโรงงาน มาสู่แปลงนาปลูกข้าวอินทรีย์ ที่ถูกเติมเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สามารถดึงเสน่ห์ของเมืองสิงห์บุรีให้ปรากฏสู่สาธารณชนได้อย่างลึกซึ้ง รวมทั้งการเป็นตัวแทนเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ องค์ประกอบต่างๆ ในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าโมเดลความสำเร็จเช่นนี้ คงไม่ได้สิ้นสุดอยู่เพียงแค่ที่สิงห์บุรีเท่านั้น แต่ด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้ จะสามารถสร้างโมเดลแห่ง ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’ เช่นนี้ ให้เกิดขึ้นได้ในอีกหลากหลายพื้นที่ เพื่อร่วมกระจายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ขยายวงกว้างไปทั่วทั้งประเทศได้ในที่สุด