‘SCG Cleanergy’ จากโซลูชันแก้ปัญหาต้นทุนพลังงาน​ สู่ New Business Model พร้อมโอกาสสร้าง New S-curve ของเอสซีจี

จากความต้องการแก้ Painpoint ด้านต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงต่อเนื่อง นำมาสู่การระดมความเชี่ยวชาญภายใน ทั้งจากคน และองค์ความรู้ที่มี ทำให้ไม่เพียงแก้ปัญหาได้สำเร็จ แต่ยังสามารถสร้าง ​​New Engine ให้กับธุรกิจ และนำมาซึ่งการสร้าง​​ New S-curve ให้องค์กรได้อีกด้วย

ปัญหาต้นทุนด้านพลังงานพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี และยังมีแนวโน้มขยายตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นในอนาคตต่อไป นำมาซึ่งการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการหันมาใช้พลังงานทดแทนเพื่อช่วยลดต้นทุนพลังงาน เพื่อศักยภาพในการเติบโตได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับ SCG ซึ่งอยู่ในภาคการผลิตและมีการใช้พลังงานจำนวนมหาศาล ที่ต้องมีการปรับตัวสู่การใช้ Renewable​  Energy ต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

โดยเฉพาะการมองหาแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Solar Power จากแสงอาทิตย์ รวมทั้งการผลิตพลังงานชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาแปลงเป็นพลังงานทดแทน แทนพลังงานจากฟอสซิล ​ซึ่งจากการขับเคลื่อนพัฒนาโซลูชันต่อเนื่องมาหลายปี ทั้งเรียนรู้ แก้ปัญหา ทำเองใช้เอง จนได้องค์ความรู้และมีความเชี่ยวชาญที่มากพอ ประกอบกับประสิทธิภาพที่พิสูจน์จากต้นทุนด้านพลังงานขององค์กรที่ลดลงได้กว่า 20-30% พร้อมต้นทุนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญสำหรับต่อยอดนวัตกรรมในอนาคต

นำมาสู่การ Spin off จากหน่วยธุรกิจใน SCG มาสู่อีกหนึ่งองค์กรใหม่ในเครืออย่าง SCG Cleanergy หรือ บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อรองรับการเติบโตตามเมกะเทรนด์โลก พร้อมการ  Roll out เพื่อขยายสเกลให้สร้างประโยชน์ได้มากกว่าแค่ในองค์กร แต่สามารถนำเสนอบริการให้อุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการใช้พลังงานจำนวนมากทั่วประเทศ ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในเชิงธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านภาษีคาร์บอนต่างๆ ที่จะเริ่มมีการประกาศใช้ในกลุ่มส่งออก  รวมทั้งดีต่อสภาวะแวดล้อมของโลก​ จากปัญหา Climate change  และสอดคล้องกับแนวทาง ESG 4 ของเอสซีจี ที่ประกอบด้วย ​​ Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

คุณอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCG Cleanergy Co,ltd. และ คุณวิสุทธ จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director SCG

ตั้งเป้าผู้นำพลังงานสะอาดครบวงจร 

คุณอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า แม้ SCG Cleanergy จะมีอายุอย่างเป็นทางการได้ราว 2 ปี แต่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ และติดตามเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดมากกว่า 10  ปี โดยเฉพาะการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถต่อยอดนวัตกรรม พัฒนาเป็นโซลูชันครบวงจร ทั้งการผลิตพลังงานไฟฟ้า การติดตั้ง การบำรุงดูแลรักษาตลอดอายุการใช้งาน เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านต้นทุนพลังงานสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่ล้วนมีความต้องการลดต้นทุนพลังงาน และมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสู่  Net Zero ตามทิศทางของประเทศและของโลกเช่นกัน กลายเป็นโอกาสเติบโตให้แก่ธุรกิจพลังงานสะอาดในอนาคตได้อย่างมาก

“ปัจจุบัน SCG Cleanergy สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่า 234 เมกะวัตต์​  ซึ่งสัดส่วนหลักกว่า 190 เมกะวัตต์ จะใช้อยู่ภายในกลุ่มธุรกิจของ SCG เอง และส่วนที่เหลืออีกกว่า 40​ เมกะวัตต์ ได้เริ่มให้บริการลูกค้าภายนอกในกลุ่มที่มีความต้องการใช้พลังงานและพลังงานความร้อนจำนวนมาก โดยสามารถช่วยลูกค้าลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้ราว 30% เช่น โตโยต้า สภากาชาดไทย โรงพยาบาลในเครือ BDMS รวมทั้งห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้าสปีดการเติบโต ด้วยการขยายฐานลูกค้านอกกลุ่ม SCG ให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมเร่งกำลังผลิตเพื่อรองรับแผนการเติบโตให้มากขึ้นอีก  4 เท่า หรืออีกราว 160 เมกะวัตต์​ ภายใต้งบลงทุนเพิ่มเติมราว 3 พันล้านบาท สำหรับใช้ทางด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามารองรับดีมานด์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งการศึกษาเทคโนโลยี Thermo Battery เพื่อแปลงพลังงานไฟฟ้าที่ได้ไปเป็นพลังงานความร้อน และมีแผนในการขยายโมเดลไปในต่างประเทศ โดยจะเริ่มในประเทศที่มีฐานธุรกิจของเอสซีจี เช่น เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย เป็นต้น”​

สำหรับจุดเด่นในการเป็น provider พลังงานแสงอาทิตย์อย่างครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า คือ การมีโซลูชันด้านพลังงานที่หลากหลาย ทั้งการติดตั้งแบบฟาร์ม แบบลอยน้ำ รวมทั้งการติดตั้งบนหลังคา ตามความเหมาะสมของพื้นที่ว่างเปล่าที่ลูกค้ามี ​โดยมีผู้ให้คำปรึกษาและดูแลตลอดการติดตั้งโดยไม่ต้องลงทุนติดตั้งเอง รวมทั้งการขออนุญาตติดตั้ง การคำนวณต้นทุนและกำลังการผลิตที่เหมาะสม การซ่อมบำรุง และการดูแลในทุกขั้นตอนด้วยโรบอท เพื่อความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งการระบบซื้อ-ขายไฟอัจฉริยะผ่านระบบสมาร์ทกริด เมื่อมีการผลิตได้เกินกว่าความต้องการใช้

เร่งเพิ่มศักยภาพเม็ดพลังงานชีวมวล

อีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพของ SCG และอยู่ระหว่างการพัฒนาประสิทธิภาพให้เพิ่มมากขึ้น คือ การใช้พลังงานชีวมวล หรือ Biomass เนื่องจาก ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรค่อนข้างมากถึง 21 ล้านตันต่อปี เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย เปลือกข้าวโพด ซึ่งส่วนใหญกลุ่มเกษตรกรมักจะกำจัดด้วยการเผา ก่อนจะทำการเพาะปลูกแปลงใหม่ ซึ่งทาง SCG จะเข้าไปดำเนินการรับซื้อ เพื่อนำมาเป็นวัตุดิบผลิต Biomass รวมทั้งยังช่วยลดต้นตอปัญหาฝุ่นควัน​ที่เกิดจากการเผา ช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมทั้งปัญหาฝุ่น PM 2.5 และช่วยลดโลกร้อน

คุณวิสุทธ จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีได้เข้าไปดำเนินการรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรจากเกษตรกรทั่วประเทศ หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อนำมาใช้เทคโนโลยีในการบีบอัดเศษวัสดุที่ทันสมัยเพื่อเปลี่ยนเป็น เม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับใช้ในเตาเผาธุรกิจซิเมนต์ซึ่งมีความต้องการเชื้อเพลิงสำหรับให้ความร้อนอยู่แล้ว โดยมีการพัฒนาให้เม็ดพลังงานชีวมวลที่ได้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทั้งการให้ค่าความร้อนที่มากขึ้น เพื่อให้ได้ความร้อนและอุณหภูมิสูงกว่า Biomass ทั่วไป ​เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถ Roll out สำหรับการนำไปใช้นอกเครือได้ในอนาคต”

“เอสซีจีได้รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกว่า 300,000 ตัน ทั้งใบอ้อย เปลือกข้าวโพด รากยางพารา ฟางข้าว แกลบ และอื่นๆ จากพื้นที่จังหวัดรอบโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี อยุธยา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช นครราชสีมา จากความต้องการใช้ได้ถึงกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งยังสามารถขยายการรับซื้อได้อีกมาก ​รวมทั้งการเร่งพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลในหลายรูปแบบ ทั้งชีวมวลประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Renewable Fuel) ทั้งด้านการใช้งาน และค่าพลังงานอื่นๆ  เพื่อขยายเป็นธุรกิจในอนาคตได้ด้วยจากปัจจุบันยังเป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในเครือเอสซีจีอยู่เท่านั้น”

ทั้งนี้ ในปี 2565 เอสซีจีได้เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเป็น 34% จากสัดส่วน 26% ในปีก่อนหน้า และมีแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดในอนาคต ซึ่งถือเป็น Key trend ของอนาคต โดยเฉพาะโอกาสจากกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อย่างสูงมาก ทั้งจากเทรนด์การเติบโตด้านพลังงานสะอาดของโลก ต้นทุนพลังงานที่ยังสูงต่อเนื่อง รวมทั้งการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ ที่มีการตั้งเป้าหมายทั้งในระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับโลก ขณะที่ช่องว่างในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีโอกาสเติบโตในระดับสูง เมื่อเทียบจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศในปัจจุบันที่มีมากถึง 48,000 เมกะวัตต์ แต่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในภาพรวมยังอยู่ที่ราว 3,000 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่า เทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้น จะทำให้สามารถผลิตพลังงานสะอาดได้มากขึ้น และกลายเป็นโอกาสเติบโตที่สำคัญทั้งของกลุ่ม Renewable รวมทั้งของเอสซีจีด้วยเช่นกัน

Stay Connected
Latest News