สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) เผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 พร้อมข้อมูลทิศทางความสุขของคนไทย เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนธันวาคม 2565
โดยหนึ่งในความน่าสนใจที่พบจากการสำรวจครั้งนี้ คือ ทิศทางความสุขของคนไทยในช่วงต้นปีใหม่ที่ผ่านมานี้ ยังอยู่ในระดับคงที่ เมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อนหน้าในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา แม้จะอยู่ท่ามกลางข่าวสารจำนวนมากที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งส่งผลต่อความสนใจและอารมณ์ความรู้สึกของคนไทย แต่พบว่า ระดับค่าความสุขของทั้งเพศชายและหญิง ยังอยู่ในสัดส่วนเท่ากันที่ 66% โดยส่วนใหญ่มีความหวังให้มีสัญญาณอันดี ที่ช่วยทำให้แนวโน้มความสุขปรับตัวเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต เพื่อให้คนไทยสามารถยิ้มได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ มีเพียง 5% ที่มองว่า ตัวเองจะมีความสุขน้อยลงในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่ 95% เชื่อว่าจะมีความสุขในระดับเท่าเดิม หรือเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยสัดส่วน 50% และ 45% ตามลำดับ โดยสัดส่วนของกลุ่มที่มองว่าตัวเองจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นนั้น มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนหน้า 2% อีกด้วย
คุณพร้อมพร สุภัทรวณิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านวิจัยการตลาดและกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน ประเทศไทย ได้อธิบายในภาพรวมไว้ว่า “คนไทยเลือกเสพข่าวอย่างสร้างสรรค์ เริ่มต้นปีใหม่ด้วยข่าวที่สร้างพลังบวกทั้งด้านการเมืองและสังคม ขณะที่ความสนใจของคนในสังคมแปรผันตามช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยหลังจากที่คนไทยผ่านช่วงเรื่องราวหนักๆ มาตลอดทั้งปี ช่วงปลายปีที่ผ่านก็มีข่าวเรื่องบอลโลกเข้ามาคลายเครียด เป็นสีสันเล็กๆ ให้กับการเสพข่าวของคนในสังคม”
ทั้งนี้ พบแนวโน้มของคนไทยในขณะนี้เริ่มเลือกเสพข่าวด้วย “ความหวัง” เพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในแง่ของการเมืองผู้คนยังคงจับตาอยู่ไม่ห่าง หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังจะมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้น ยิ่งเป็นที่น่าสนใจของผู้คนในสังคม รวมไปถึงเรื่องทุนจีนสีเทา และเว็บพนันออนไลน์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวในการพิสูจน์ความปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมในสังคม
ขณะที่ผลสำรวจด้านพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย พบว่า มีแนวโน้มในการใช้จ่ายลดลงถึง -4% เมื่อเทียบกับการสำรวจในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความระมัดระวังและรอบคอบในการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่ม Top Spenders อย่างกลุ่มคนวัย 50-59 ปี ก็หันมาโฟกัสสิ่งของที่จำเป็น ชะลอการใช้จ่าย หลังจากได้จ่ายเพื่อสังสรรค์และให้รางวัลครอบครัวในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาแล้วอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ พบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงต้องการใช้จ่ายเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูดีขึ้นต้อนรับปีใหม่ แม้ค่าครองชีพจะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังคงไม่หวั่น ใช้จ่ายหนุนเศรษฐกิจกันอย่างคับคั่ง แต่ในทางกลับกันคนต่างจังหวัดยังคงกังวลเรื่องเศรษฐกิจ ยิ่งในพื้นที่ที่ผู้คนมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวจะกังวลว่า นักท่องเที่ยวจะนิยมเดินทางไปตามเมืองใหญ่ๆ ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศเองก็มองหาโอกาสใหม่ๆ ในการท่องเที่ยวในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ