สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เล็งเห็นถึงคุณค่าและศักยภาพของคนพิการที่สามารถส่งเสริมและพัฒนาให้มีโอกาสทางอาชีพที่มั่นคง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงร่วมมือกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดตัวโครงการ C.H.A.N.C.E for Friend : Friend for Disabled (โอกาสเพื่อเพื่อน) เดินหน้าปั้นอาชีพแก่คนพิการทั่วประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมุ่งมั่นในการผลักดันการลดความเหลื่อมล้ำ โดยส่งเสริมคนพิการทั้งในด้านอาชีพและการจ้างงานคนพิการให้มีโอกาสใช้ความสามารถของตนเองมาประกอบอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ C.H.A.N.C.E for Friend : Friend for Disabled (โอกาสเพื่อเพื่อน) เพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาคม มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรคนพิการผ่านโมเดล “1 บริษัท ดูแล 1 องค์กรคนพิการ” ซึ่งนับเป็นการบูรณาการครั้งแรกในประเทศไทยที่จะช่วยเหลือ ลดความเหลื่อมล้ำทางอาชีพและเพิ่มพูนรายได้ให้กับคนพิการ ด้วยการเปิดโอกาสการจ้างงานและสนับสนุนโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับคนพิการที่มีศักยภาพและความสามารถให้ได้กลับเข้าสู่สังคม การสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับองค์กรคนพิการ เป็นต้น”
โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สมาคมผู้ค้าปลีกไทย นำโดย นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำโดย นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ทั้งนี้ สมาชิกของสมาคมฯ จำนวนทั้งสิ้น 92 บริษัท ซึ่งต่างมีเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นตั้งใจจริงในการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง จะร่วมกันขยายผลตามบันทึกความร่วมมือดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ประกอบด้วย
1. เปิดโอกาสด้านการจ้างงาน และสนับสนุนโครงการส่งเสริมอาชีพ ให้แก่คนพิการที่มีศักยภาพได้กลับเข้าสู่สังคม มีอาชีพและรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ไม่เป็นภาระของสังคม
2. เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ด้วยการพัฒนาและยกระดับสินค้า ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ภายใต้โครงการ H.A.N.C.E for Friend : Friend for Disabled (โอกาสเพื่อเพื่อน) พร้อม กระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคให้กว้างขึ้น ด้วยการ สนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้า ผ่านร้านค้าของสมาชิกในสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
3. เสริมสร้างสังคมที่ดีและยั่งยืนด้วยการ นำวัสดุเหลือใช้มา Recycle และ Upcycle สร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ที่มีคุณค่า โดยการเปลี่ยนมาเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ซึ่งช่วยทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย
สำหรับตัวอย่างโครงการส่งเสริมอาชีพคนพิการของสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีก อาทิ โลตัส มีการนำรถเข็นช้อปปิ้งที่ไม่ใช้แล้วนำมาดัดแปลง-ซ่อมแซมเป็นรถเข็นสำหรับคนพิการ, กลุ่มบีเจซี เชิญชวนลูกค้าบริจาคกระป๋องเครื่องดื่มอลูมิเนียมเพื่อผลิตเป็นขาเทียมภายใต้มูลนิธิขาเทียมฯ ในโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นบุญ เมื่อคุณหมุนเวียน”, กลุ่มเซ็นทรัล ได้เปิด “ศูนย์ Contact Center ไทวัสดุ เพื่อคนพิการ” ณ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ จังหวัดชลบุรี โดยจ้างงานคนพิการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ call center เพื่อรับโทรศัพท์จากลูกค้า และโครงการจ้างเหมาบริการช่างซ่อมรถวีลแชร์โดยช่างคนพิการด้วยการนำวีลแชร์เก่ามาซ่อมแซมเป็นรถวีลแชร์ใหม่ให้แก่คนพิการ นอกจากนี้สมาชิกของสมาคมฯ ยังได้รวมพลังกับภาครัฐเชิญชวนร่วมกันรีไซเคิล-อัพไซเคิลขยะเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคนพิการอีกด้วย
“สมาคมผู้ค้าปลีกไทยให้ความสำคัญในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และพร้อมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมอาชีพและจ้างงานคนพิการอย่างจริงจัง โดยที่ผ่านมาสมาคมฯได้ให้การสนับสนุนจนเกิดผลเป็นรูปธรรม และมุ่งมั่นที่จะทำอย่างต่อเนื่อง ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคมไทย นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน” นายญนน์ กล่าวสรุป