อินไซต์คนไทยเกี่ยวกับการบริจาค เทรนด์ผู้บริจาคเริ่มมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ปัจจัยหลักเพื่อ ‘ความสุขทางใจ’ ส่วนการลดหย่อนภาษี เป็นแค่ ‘ของแถม’

ข้อมูลจาก มูลนิธิรามาธิบดีฯ (มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)ในฐานะตัวกลางที่ช่วยเชื่อมโยงและส่งต่อความช่วยจากประชาชนผู้มีจิตศรัทธา เพื่อสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลรามาธิบดี ในการช่วยเหลือผู้ป่วย และการดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทั่วทั้งประเทศ ซึ่งขับเคลื่อนมายาวนานถึง 54 ปี

คุณพรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ ​ให้ข้อมูลพฤติกรรมเกี่ยวกับการบริจาคของคนไทย ​​พบว่า คนไทยให้ความสำคัญกับการบริจาคเพิ่มมากขึ้น แม้ภาพรวมเศรษฐกิจตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จะมีสถานการณ์โควิดมากระทบกับรายได้ของคนไทยส่วนใหญ่ ทำให้ยอดการบริจาคในแต่ละครั้ง อาจลดน้อยลง แต่ยอดบริจาคโดยรวมก็ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด สะท้อนว่า จำนวนการบริจาคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า การเติบโตของจำนวนครั้งการบริจาคจะเพิ่มราว 20-30% ต่อปี นอกจากนี้ ยังพบอินไซต์ที่น่าสนใจต่อเรื่องราวในการบริจาคของคนไทย ต่อไปนี้

1. เห็นแนวโน้มอายุของผู้บริจาคที่เริ่มน้อยลง จากก่อนหน้านี้ เมื่อย้อนไปช่วง 10 ปีก่อนหน้า มีเพียงคนสูงอายุที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับการบริจาค ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มที่มีความมั่นคงทางการเงินในระดับหนึ่งก่อน ซึ่งปัจจุบันอายุของผู้บริจาคจะค่อยๆ ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเริ่มมีกลุ่มอายุราวๆ 20 ปี ที่เพิ่งเริ่มทำงาน เข้ามาบริจาคให้กับทางมูลนิธิเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยตอกย้ำแนวคิดที่เชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสังคมเพิ่มมากขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

2. ​กลุ่มผู้บริจาค​ GenX (อายุ 45 ปีข้ึนไป) มีสัดส่วนราว 40% ของกลุ่มผู้บริจาคบุคคลธรรมดา ขณะที่กลุ่มอายุ 45-60 ปี และ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และอยู่ในกลุ่มที่มีการบริจาคต่อรายสูงที่สุด ส่วนกลุ่ม Gen Z (อายุตั้งแต่ 9-24 ปี)  มียอดบริจาคจากกลุ่มนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด (2563-2564) เพิ่มขึ้น 2 เท่า แม้ในปีที่ผ่านมา (2565) ยอดจากกลุ่มนี้จะลดลงเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิดระบาดอยู่ดี โดยเหตุผลที่คนนิยมบริจาคให้ทางมูลนิธิฯ และเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้แบรนด์เติบโตได้​ 54 ปี  คือ ผู้บริจาคเห็นผลลัพธ์ในการนำเงินบริจาคไปใช้ได้อย่างชัดเจน ในระยะเวลาอันสั้น  ทำให้มีความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส และยังช่วยเติมเต็มความสุขทางใจให้แก่ผู้บริจาค

3. ประเด็นหลักสำคัญในการบริจาคของคนไทย ยังอยู่ที่การทำเพื่อ ‘การเติมเต็มความสุขทางใจ’ ที่ได้มีโอกาสในการส่งต่อการให้ต่อไปได้แบบไม่สิ้นสุด ส่วนเรื่องของ ‘การลดหย่อนภาษี’ ถือว่าเป็นเพียง By product หรือ หนึ่งใน ‘ของแถม’ ที่ได้มาจากการบริจาคเท่านั้น เพราะหลายๆ คนที่มียอดบริจาคเกินกว่าเพดานภาษีของตัวเองไปค่อนข้างมาก ประกอบกับ ปีที่ผ่านมานี้  การบริจาคผ่านทางมูลนิธิฯ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า จากที่ก่อนหน้านี้ ลดหย่อนได้เพียงแค่เท่าเดียว แต่ยอดการบริจาคก็ไม่ได้เพิ่มมากขึ้นแบบหวือหวา ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนๆ จึงเชื่อว่า ประเด็นในเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจมาบริจาคกับทางมูลนิธิฯ

4. การอำนวยความสะดวกให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริจาคมีความสำคัญ จากการที่มีผู้บริจาคผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้นและกลายเป็นช่องทางหลักในการรับบริจาคถึงกว่า 70% จากก่อนหน้านี้มีสัดส่วนเพียง 20% ขณะที่การบริจาคผ่านโรงพยาบาลเหลืออยู่ราว 30% จากที่ก่อนหน้าเคยเป็นช่องทางหลักที่ระดมเงินบริจาคได้มากถึง 80%

5. ทางมูลนิธิฯ จะพยายามสื่อสารเพื่อเพิ่ม Engage กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้นโดยเฉพาะการใช้ช่องทางออนไลน์ต่างๆ รวมทั้งช่องทาง TikTok ที่เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่กำลังได้รับความสนใจ และเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ง่าย รวมถึงช่องทางโซเชียลอื่นๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มผู้บริจาคได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งการให้ความสำคัญกับการทำการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data) เพื่อทำความเข้าใจอินไซต์และพฤติกรรมผู้บริจาคแต่ละกลุ่ม เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ หรือกิจกรรมต่างๆ ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มได้ดีขึ้น โดยปัจุบันพบว่า กลุ่มผู้บริจาครุ่นใหม่ที่อายุไม่มาก จะนิยมบริจาคให้กับโครงการที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยยากไร้ต่างๆ ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุจะเน้นการสร้างอาคาร หรือการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ

รวมถึงการใช้ความชื่นชอบของคนรุ่นใหม่มาต่อยอดการทำงาน เช่น การจัดทำของที่ระลึก โดยใช้คาแรคเตอร์การ์ตูนต่างๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น ไลน์เฟรนด์ (LINE Friends), เฮลโล คิตตี้ (Hello Kitty), สนูปี้ (Snoopy) ฯลฯ หรือ การใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นศิลปินกลุ่มคนรุ่นใหม่มาช่วยโปรโมทแคมเปญต่างๆ เช่น การเปิดตัวของที่ระลึกการกุศล Power of Giving เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และการใช้ Facebook แฟนเพจของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เพิ่มการเข้าถึงคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ เช่น คอนเทนต์วอลเปเปอร์ เรื่องของดวง 12 ราศี เลขมงคล ​รวมทั้งการเพิ่มแผนความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น เช่น ลิขสิทธิ์ Peter Rabbit และ My Melody เพื่อช่วยให้ทุกคนเข้าถึงการทำบุญได้มากยิ่งขึ้น

เร่งระดมทุนสนับสนุนโครงการหลัก 

สำหรับปี 2566 นี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ มี 2 โครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งระดมทุน ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี โครงการใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อทดแทนอาคารเดิมที่เริ่มหนาแน่น และเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับและรักษาผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อนซึ่ง ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นต้นแบบทางการรักษาให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ ต่อไป ​รวมทั้งรองรับการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคซับซ้อนต่างๆ ได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า ​รองรับให้บริการผู้ป่ยนอกได้ถึง 2.5 ล้านครั้งต่อปี และให้บริการผู้ป่วยในได้ถึง 55,000 คนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ 2571 ซึ่งโครงการยังคงขาดงบอีกกว่า 9 พันล้านบาท ทั้งเพื่อใช้ก่อสร้างอาคารราว 3 พันล้านบาท และการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์อีกกว่า 6​ พันล้านบาท

อีกหนึ่งโครงการคือ โครงการดั้งเดิมตั้งแต่ก่อตั้งอย่าง โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ ที่ต้องระดมทุนต่อเนื่อง​เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จากข้อจำกัดทั้งเรื่องของค่ารักษาพยาบาล ​ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยยากไร้ในทุกประเภท ได้แก่ ผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์ ผู้ป่วยจิตเวช ภิกษุ แม่ชี ผู้ป่วยเร่ร่อน ผู้ป่วยจากภัยพิบัติ ผู้ป่วยต่างด้าว รวมถึงผู้ป่วยระดับกลางที่ใช้สิทธิประกันตน หรือใช้ประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่สิทธิต่างๆ ยังไม่ครอบคลุม​ รวมทั้งโรคด้านจิตใจ ครอบครัว รวมถึงช่วยเหลทอค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น​ ซึ่งแต่ละปีมูลนิธิฯ ได้ใช้งบประมาณการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้มากกว่า 100 ล้านบาท โดยเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่มีรายได้ถึง 40% และการช่วยเหลือส่วนที่เหลือไปยังผู้ป่วยผู้มีรายได้ต่ำ โดยผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นผู้ป่วยเด็กและผู้สูงวัยกว่า 57%  ในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาสัดส่วนเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้คิดเป็น 19% จากโครงการทั้งหมดที่มูลนิธิระดมทุนอยู่ โดยมีสัดส่วนของผู้ป่วยยากไร้รายใหม่ที่ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิฯเพิ่มขึ้นกว่า 4% เมื่อเทียบกับปีพ.ศ. 2564

นอกจากนี้ ยังสามารถบริจาคให้โครงการอื่นๆ ภายใต้การดูแลของมูลนิธิ ไม่ว่าจะเป็น โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โครงการทุนการศึกษารามาธิบดี โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน และโครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด รวมทั้งยังขับเคลื่อนแคมเปญ  “ความสุขจากการให้..ไม่สิ้นสุด” อย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์จาก ‘การให้‘ แทนคำขอบคุณจากผู้ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งด้านการรักษาพยาบาล ทุนการศึกษา และโครงการต่างๆ จากน้ำใจของคนไทย เพื่อตอกย้ำว่า ทุกการให้ สามารถสร้างให้เกิดความสุขในหลากหลายรูปแบบตามมา ทั้งการได้มอบชีวิต การมีส่วนช่วยผลิตบุคลากรทางการแพทย์ หรือการมีส่วนช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำมาซึ่งการดูแลคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคนไทย ผ่านหลากหลายๆ โครงการที่มีอยู่ และในอนาคตที่กำลังจะตามมา โดยทุกคนสามารถร่วมสมทบทุนเพื่อบริจาคให้กับทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้

 

Stay Connected
Latest News