ด้วยความมุ่งมั่นสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ลดลง หรือ Make Healthcare Affordable ทำให้ อรินแคร์ (ARINCARE) สตาร์ทอัพในกลุ่ม Health Tech ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจร ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และลดช่องว่างในการเข้าถึงการมีสุขภาพที่ดีของคนไทย
โดยเฉพาะการใช้ร้านขายยาเป็นแกนกลางสำคัญ ในการพัฒนา Digital Pharmacy Platform ซึ่งประกอบไปด้วย ซอฟต์แวร์อรินแคร์ (ARINCARE) โปรแกรมช่วยเภสัชกรและผู้ประกอบการร้านขายยาบริหารจัดการธุรกิจร้านขายยา รวมไปถึงบริการ MedEx ที่ช่วยบริหารจัดการด้านซัพพลายเชน ทั้งการบริหารคลังยา จ่ายยา เก็บประวัติผู้ป่วย และ MedCare ที่ช่วยเชื่อมต่อผู้ป่วยเข้ากับการรับบริการทางสาธารณสุข ในรูปแบบ Virtual Pharmacy ที่เป็นเสมือนห้องยาบนแพลตฟอร์ม และสามารถรับคำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจากเภสัชกรได้โดยตรง
“ร้านขายยา” ฟันเฟืองลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพของคนไทย
คุณธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรินแคร์ จำกัด กล่าวว่า การเพิ่มศักยภาพ (Empower) ให้ร้านขายยา ถือเป็นกลไกสำคัญในการอุดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพของคนไทย เพราะถือเป็นหน่วยให้บริการด้านสุขภาพที่เข้าถึงชุมชนได้ในวงกว้าง และสามารถลงลึกไปจนถึงระดับตำบลหรือหมู่บ้าน โดยในแต่ละปีร้านยาทั่วประเทศจะให้บริการลูกค้าได้ถึงกว่า 180 ล้านราย การมีร้านยาที่แข็งแรง จึงถือเป็นการสร้างความแข็งแรงให้โครงสร้าง Healthcare Ecosystem ของประเทศได้อีกทางหนึ่ง
เพราะช่วยให้ประชาชนเพิ่มความสามารถในการดูแลสุขภาพของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักกว่าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น หากจะกล่าวว่าร้านขายยาคือหนึ่งในเสาหลักของการดูแลสุขภาพให้ผู้คนในระดับชุมชนก็คงไม่ผิดนัก
แต่ในความเป็นจริงอีกมุมหนึ่ง ‘ร้านขายยา’ ก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอีประเภทหนึ่ง ที่ผู้ขับเคลื่อนจำเป็นต้องมีทักษะทางด้านธุรกิจเพื่อทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งและอยู่รอดได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มเภสัชกรหรือผู้ประกอบการร้านขายยา อาจจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องของยา หรือการดูแลสุขภาพผู้ป่วยมากกว่าการบริหารจัดการธุรกิจ ดังนั้น แม้จะมีเภสัชกรที่เก่งสักแค่ไหน ก็ไม่ใช่เครื่องรับประกันได้ว่า ร้านขายยาร้านนั้นจะอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว
ประกอบกับ การมองเห็นอีกมุมหนึ่งของปัญหาในอุตสาหกรรมยาที่ฝั่งผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะราคายา ที่กว่าจะมาถึงมือผู้บริโภค ราคาได้ถูกขยับให้แพงไปมากกว่า 50% โดยที่ไม่ได้มาจากต้นทุนการผลิตยาโดยตรง แต่มาจากส่วนอื่นๆ ที่เชื่อว่า หากมีการบริหารจัดการที่ดี และสามารถเชื่อมโยงทั้งระบบนิเวศเข้าด้วยกัน จะสามารถแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้
จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มอรินแคร์ ที่พัฒนาทั้ง 3 บริการ เพื่อช่วยเหลือให้ร้านยาแข็งแรงและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการบริหารจัดการหน้าร้าน การเชื่อมโยงร้านขายยาเข้ากับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยา รวมทั้งการเชื่อมโยงร้านยาเข้ากับคนไข้ ซึ่งจากการขับเคลื่อนมาตลอด 7 ปี ทำให้ปัจจุบันอรินทร์แคร์ สามารถสร้างเครือข่ายร้านขายยาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยจำนวนร้านขายยากว่า 3,000 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จากร้านยาทั่วประเทศเกือบ 2 หมื่นร้าน ซึ่งราว 80% ที่เป็น SME
ขณะที่มูลค่าตลาดร้านขายยาอยู่ที่ราว 35,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7% โดยคาดว่าตลาดมีโอกาสเติบโตได้อีกทั้งจากเทรนด์การดูแลสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อยาสูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และมีเทนรด์เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยน 13-17% โดยคาดว่าจะแตะ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ต้องมีการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งการขยายโครงการจากทางภาครัฐในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยใช้ร้านขายยาเป็น Touchpoint สำคัญในการเข้าถึงประชาชนได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
“เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาแพลตฟอร์มอรินแคร์ เราไม่ได้มองเป้าหมายสูงสุดเพื่อเติบโตจนถึงระดับยูนิคอร์น แต่ให้ห้ความสำคัญกับการสร้าง Milestones ให้กับธุรกิจในแต่ละสเต็ป ว่าในแต่ละปี สามารถแก้ Painpoint ในเรื่องของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุข ในเรื่องใดหรือพัฒนาอะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาได้บ้าง รวมทั้งการสร้างให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในระบบนิเวศ หรือการสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวมดีขึ้น หรือสามารถเข้าถึงบริการหรือยาต่างๆ ได้สะดวกด้วยค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ลดลงได้ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดที่มองไว้ แต่ในการขับเคลื่อนและผลักดันในเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลาและค่อยๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากธุรกิจในเรื่องของสุขภาพไม่สามารถดิสรัปได้แบบทันทีทันใดแต่ต้องใช้วิธีค่อยๆ เปลี่ยนผ่านหรือการทรานส์ฟอร์มไปเรื่อยๆ”
ปิดดีลระดมทุนเพิ่ม เติมเต็ม Healthcare ecosystem
ไมล์สโตนความสำเร็จล่าสุดของอรินแคร์ คือ สามารถการปิดดีลระดมทุนรอบ Series B ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 4 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ จากกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) และ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) เพื่อเข้ามาช่วยเติมเต็มให้ระบบนิเวศด้าน Health Tech ของประเทศให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยทางอรินแคร์ จะนำเงินทุนที่ได้ไปพัฒนาใน 3 ด้านสำคัญ ทั้งการยกระดับซัพพลายเชน การพัฒนาสมาร์ทเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ร้านยาได้มากขึ้น รวมทั้งการเสริมความแข็งแรงภายในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการองรับการเติบโตของเครือข่ายร้านขายยาได้มากกว่าเท่าตัว หรือเพิ่มเป็นกว่า 6,000 แห่ง พร้อมทั้งการเตรียมตัวเข้าระดมทุน IPO ในตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า
“การร่วมผนึกกำลังครั้งสำคัญนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวของการสร้างระบบนิเวศสาธารณสุขไทย จากทั้ง 3 ฝ่าย ที่มีเป้าหมายและความตั้งใจในทิศทางเดียวกัน เพื่อมุ่งมั่นสร้างโอกาสการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคนไทย โดยยึดชุมชน ผู้บริโภค และผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการดูแลรักษาครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับกรอบแนวคิด ‘Make Healthcare Affordable’ ที่ต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายในราคาที่สมเหตุสมผลมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับ Supply Chain ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสาธารณสุข การดูแลรักษาสุขภาพ รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ และยารักษาในราคาที่ยุติธรรม” คุณธีระ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมุ่งเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการเจ้าของร้านยา ทั้งร้านขายยาขนาดกลาง ถึงขนาดเล็ก ที่เป็น SME รวมทั้งเภสัชกร ได้มีเครื่องมือที่ช่วยบริหารธุรกิจและบริการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงการทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยระหว่างแพทย์ และเภสัชกร เพื่อยกระดับบริการสาธารณสุขประเทศ สอดรับกับเทรนด์ใหม่ในการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน และพร้อมรับมือกับการแข่งขันทางธุรกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) กล่าวว่า ด้วยแนวคิดและทิศทางธุรกิจของ ARINCARE ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ของทาง CHG ทำให้เล็งเห็นถึงโอกาสของการต่อยอดธุรกิจ ที่มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ในการร่วมสนับสนุนธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพให้เข้าถึงในระดับชุมชน ต่อยอดการเติบโตระบบนิเวศของ Health Tech ยกระดับปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุข ให้มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมากขึ้น เพื่อโอกาสการเข้าถึงในการดูแลผู้ป่วยใน (IPD) และผู้ป่วยนอก (OPD) เข้าด้วยกัน ยกระดับบริการแบบไร้รอยต่อ สู่คุณภาพชีวิตที่ดี โดยการนำเทคโนโลยีที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ARINCARE โดยเฉพาะระบบ e-prescription ซึ่งเป็นการแชร์ข้อมูลของผู้ป่วยให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยประมวลผลการวินิจฉัยให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยให้การดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้าถึงการรักษาและรับยาได้สะดวกขึ้น ลดปัญหาการใช้ใบสั่งยาที่คลาดเคลื่อน ใบสั่งยาปลอม การแอบนำไปใช้ซ้ำ รวมถึงสามารถติดตามตรวจสอบผลการดูแลรักษาผู้ป่วย ดูประวัติใบสั่งยา ข้อมูลยาที่ผู้ป่วยได้รับใช้งานง่ายและไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม
นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG) เผยว่า การร่วมลงทุนกับ ARINCARE นับเป็นโอกาสดีในการร่วมต่อยอดและเติมเต็ม Health Tech Ecosystem ของไทย และหนึ่งในเป้าหมายของPTG ในการร่วมลงทุนครั้งนี้ นับเป็นการเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง ผ่าน MAX Ventures เพิ่มโอกาสสร้าง New S-Curve รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งและต่อยอดธุรกิจในเครือข่ายของ PTG เพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนไทย โดยเฉพาะการต่อยอดความร่วมมือผ่านระบบนิเวศของพีทีในฐานะ Service Station ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หลากหลายของผู้บริโภค และสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายในการขยายสถานีบริการให้ครอบคลุมกว่า 3 พันแห่ง ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ และลงลึกในระดับตำบาล ที่จะมาช่วยเสริมในแง่ของการขยาย touchpoint รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์จากการใช้จ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพของคนไทย ที่ปัจจุบัน 50% หรือกว่าครึ่งหนึ่งในการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยเป็นการจ่ายค่ายา ซึ่งในอนาคตอาจได้รับส่วนลดหรือมีสิทธิประโยชน์จากการใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพ รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในอนาคตได้