หลุยเซียน่า ซึ่งเป็นรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา และเป็นพื้นที่เสี่ยงจากการถูกกัดเซาะของคลื่นจากอ่าวเม็กซิโก รวมท้ังการเกิดพายุเฮอริเคนโดยตั้งแต่ปี 1900 หลุยเซียน่าได้สูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) บริเวณติดชายฝั่งไปมากกว่า 1 ล้านเอเคอร์ ทั้งจากผลกระทบทางธรรมชาติ และจากการกระทำของมนุษย์
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่งของรัฐหลุยเซียน่ากว่า 1,500 ตารางไมล์ ได้หายไป ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการป้องกันอย่างจริงจัง อาจจะต้องสูญเสียพื้นที่เพิ่มอีก 1,000 ตารางไมล์ หรือเทียบได้เท่ากับพื้นที่ของรัฐโรดไอส์แลนด์ทั้งรัฐ ภายในปี 2050
กลุ่มพันธมิตรเพื่อฟื้นฟูชายฝั่งหลุยเซียน่า (CRCL : Coalition to Restore Coastal Louisiana) จึงได้จัดตั้งโครงการรีไซเคิลเปลือกหอยนางรม (OSRP : Oyster Shell Recycling Program) เพื่อนำมาเปลือกหอยจำนวนมากจากการบริโภคมาช่วยฟื้นฟูแนวปะการัง รวมทั้งช่วยป้องกันชายฝั่งถูกกัดเซาะได้อีกทางหนึ่ง
ท้ังนี้ หลุยเซียน่าสามารถผลิตหอยนางรมได้ถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ก่อนหน้านั้น เปลือกหอยส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนำกลับสู่ทะเล โดยเฉพาะเมื่อนำไปขายให้ร้านอาหารต่างๆ ขยะเปลือกหอยที่เหลือหลังจากการบริโภคทั้งหมดนั้นจะถูกนำไปฝังกลบ
CRCL จึงได้ริเริ่มโครงการรีไซเคิลเปลือกหอยนางรมมาต้ังแต่เดือนมิถุนายน ปี 2014 โดยขอความร่วมมือจากร้านอาหารที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับโครงการ รวมทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนและกลุ่มอาสาสมัครรวมกว่า 2,000 คน เพื่อร่วมกันบริโภคหอยนางรมและรวบรวมเปลือกที่เหลือจากการรับประทาน ส่งคืนให้กับโครงการรีไซเคิล เพื่อนำไปสร้างเป็นแนวปะการังป้องกันการถูกกัดเซาะตลอดแนวชายฝั่ง รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพประมงของคนในพื้นที่ เนื่องจาก แนวปะการังจากเปลือกหอยนางรมที่สร้างขึ้นมานี้ได้กลายเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์ทะเลต่างๆ รวมท้ังลูกหอยนางรมด้วย ทำให้ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับทรัพยากรทางธรรมชาติ สามารถช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจประมงในท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่หอยนางรมที่มีชีวิตอยู่นั้นก็สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้นได้ด้วย
ซึ่งตลอดระยะเวลาในการขับเคลื่อนโครงการมาตั้งแต่ปี 2014 สามารถรวบรวมเปลือกหอยนางรมได้แล้วกว่า 4,581 ตัน หรือกว่า 12.5 ล้านปอนด์ และสามารถนำไปก่อสร้างเป็นแนวปะการังจากเปลือกหอยนางรมเพื่อป้องกันชายฝั่งได้ยาวกว่า 8,000 ฟุต ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการถูกกัดเซาะลงได้ถึง 50% ขณะเดียวกัน แนวปะการังที่ทำไว้จะสามารถขยายพื้นที่เพิ่มได้มากขึ้นในอนาคต จากการที่มีจำนวนหอยนางรมเข้ามาเกาะเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา ยิ่งช่วยเพิ่มความแข็งแรงมากขึ้นตามธรรมชาติ และในบางครั้งปริมาณอาจจะเพิ่มมากขึ้นจนอยู่เหนือกว่าระดับน้ำทะเลได้
ขณะที่การขับเคลื่อนโครงการจะมีการขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถป้องกันพื้นที่ได้ครอบคลุมตลอดแนวชายฝั่ง รวมทั้งยังช่วยบรรเทาความรุนแรงจากการโจมตีของพายุเฮอริเคนได้ด้วย