จากสองความท้าทายสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ทั้งการก้าวสู่บริษัท 100 ปี ตามรอยเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งการมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050
ประกอบกับเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สู่การเป็นผู้นำธุรกิจอาหารอย่างครบวงจรทั้งในระดับประเทศ รวมทั้งการก้าวสู่การเป็น ‘ครัวของโลก’ โดยมุ่งหวังให้ทุกคนบนโลกมีอายุยืนยาวได้มากว่า 100 ปี อย่างแข็งแรงและมีความสุข จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อสามารถพัฒนาอาหารได้อย่างปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นำมาซึ่งการวางกลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจได้ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่วางไว้ โดยเฉพาะการพิชิตเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นเบื้องต้นภายในปี 2030 เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการเป็น Net zero ในปี 2050
ทั้งนี้ การ Toward Net Zero ของซีพีเอฟในปัจจุบันมาถึงจุดไหนอย่างไร และจะขับเคลื่อนต่ออย่างไรนั้น ผู้บริหารระดับสูงของซีพีเอฟ ประกอบด้วย คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ คุณพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร และ คุณกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ซีพีเอฟ ได้ร่วมให้ข้อมูลความคืบหน้าในแต่ละมิติร่วมกัน ดังต่อไปนี้
1. ปัจจุบันซีพีเอฟอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อวัดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของบริษัท รวมทั้งบริษัทในเครือทั่วโลก ทั้ง 17 ประเทศ เพื่อคำนวณแนวทางในการลดการปล่อย GHG ในแต่ละปี โดยยึดตัวเลขในปี 2020 เป็นปีฐาน เพื่อนำส่งให้กับ SBTI (Science Based Targets Initiative) สำหรับใช้รับรองการขับเคลื่อนให้ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล
2. หนึ่งในความสำเร็จสูงสุดของการขับเคลื่อนสู่ Net Zero ของซีพีเอฟในขณะนี้ คือ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนได้ถึง 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด พร้อมติดลิสต์ Top 5 ผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารที่ใช้พลังงานหมุนเวียนมากที่สุด รวมทั้งการยกเลิกการใช้ถ่านหินได้ทั้งหมด 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2022
3. โดยสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนปัจจุบันของซีพีเอฟ มาจากพลังงานสะอาดประเภทต่างๆ ประกอบด้วย พลังงานจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) 30% จากการเปลี่ยนมูลสัตว์ในฟาร์มไข่ไก่ และฟาร์มหมูกว่า 100 แห่ง ให้กลายมาเป็นเชื้อเพลิง, พลังงานชีวมวล (Biomass) 68% จากโครงการ Waste to Value ที่นอกจากช่วยบริหารจัดการขยะและของเสียจากกระบวนการผลิตจากโรงงานท้ัง 18 แห่ง เพื่อเปลี่ยนมาเป็นพลังงานไฟฟ้า และยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ซีพีเอฟ สามารถยกเลิกการใช้ถ่านหินทั้งหมดได้อีกด้วย รวมทั้งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) 2% ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามโรงงาน และฟาร์ม 36 แห่ง เพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้
4. การใช้พลังงานทดแทนดังกล่าว ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 600,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้มากกว่า 64 ล้านต้น หรือ 3.2 แสนไร่ รวมทั้งช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้ 350 ล้านบาท โดยพลังงาน Biogas ที่ผลิตได้สามารถทดแทนการใช้พลังงานภายในฟาร์มได้ทั้งหมด ขณะที่การใช้ Biomass จะช่วยลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับการใช้ถ่านหินลงได้ถึง 40 เท่า รวมทั้งมีแผนเพิ่มความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานโซลาร์จาก 20 เมกะวัตต์ในปัจจุบันให้ได้เป็น 100 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้
5. Next Step ในการยกระดับสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน คือ เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ในปี 2030 และสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนทั้ง 100% ให้ได้ภายในปี 2050 สอดคล้องไปกันแผนการเป็น Net Zero รวมทั้งการนำ Best Practice จากประเทศไทยเพื่อไปปรับใช้กับโรงงานรวมทั้งเครือข่ายธุรกิจที่มีอยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งการเปิดกว้างสำหรับการพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่ๆ มาใช้ในธุรกิจ เช่น กรีนไฮโดรเจน จากการต่อยอดการนำมีเทนจาก Biogas ไปใช้ประโยชน์ หรือการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ รวมไปถึงการอัพเดทโซลูชันใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
6. สำหรับแผนและเม็ดเงินลงทุนเพื่อพิชิตเป้าหมาย Net Zero ทางซีพีเอฟยอมรับว่าไม่สามารถตอบได้แน่ชัด มีเพียงการตั้งงบลงทุนตามปกติในแต่ละปีไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก เทคโนโลยีทางด้านนี้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทางซีพีเอฟทำได้เพียงวางเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเดินไปไหน ส่วนจะเดินไปอย่างไรนั้น ต้อง Learning by Doing โดยเปิดกว้างโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ต้องมองอย่างรอบด้าน ทั้งศักยภาพในการช่วยลด GHG รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตลอดอายุการใช้งาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการหลังการใช้งานด้วย เช่น การใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งมีประสิทธิภาพในระดับสูง แต่ยังต้องทำการบ้านให้ดีขึ้นในเรื่อง Waste Management
“เรามีเป้าหมายวางไว้ชัดเจน แต่ยังไม่มี Journey ว่าจะไปอย่างไร เพราะปัจจัยสำคัญอยู่ที่เรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเราก็ต้องคอยติดตามเพื่อหาโซลูชันที่เหมาะกับเรา รวมทั้งต้องมั่นใจว่าในขั้นตอนการกำจัดหลังจากนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอีกทางหนึ่ง เพราะเรื่องเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นในการพัฒนา และทั่วโลกก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ เราทำได้แค่เปิดกว้างที่จะร่วมพัฒนากับทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เป้าหมายของประเทศไทย แต่เป็นวาระของทั้งโลกที่มีเป้าหมายร่วมกัน หรือแม้แต่การนำ Best Practice ในเรื่องการเปลี่ยนถ่านหินไปสู่ไบโอแมส ซึ่งค่อนข้างสมบูรณ์แล้วในประเทศไทย การนำร่องไปในอีก 4 โรงงาน 3 ประเทศ ทั้งในอินเดีย 2 แห่ง ฟิลิปปินส์ 1 แห่ง และตุรกีอีก 1 แห่ง ก็ไม่ใช่ว่าจะนำเทคโนโลยีไปติดตั้งแล้วทำได้เลย แต่ต้องนำไปได้ทั้งกระบวนการ ต้องไปสำรวจวัตถุดิบเพื่อมาทำ Biomass ในแต่ละประเทศว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะเข้าไปปรับปรุงเทคโนโลยีต่างๆ ให้รองรับการเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานทดแทน ซึ่งทุกอย่างต้องค่อยๆ เรียนรู้ และพัฒนา” ผู้บริหารซีพีเอฟ ให้ความเห็นร่วมกัน
7. ซีพีเอฟเชื่อว่า การขับเคลื่อนในเรื่อง Net Zero ท้าทายมากกว่าที่จะทำสำเร็จได้โดยลำพัง ทำให้มองเห็นความร่วมมือทั้งกับธุรกิจชั้นนำขนาดใหญ่ระดับประเทศ ในการแชร์เทคโนโลยี แชร์องค์ความรู้ รวมทั้งแชร์ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน เพื่อช่วยเพิ่มสปีดในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่มีร่วมกันต่างจากการขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตที่จะเป็นแบบต่างคนต่างทำ แต่การขับเคลื่อนในเรื่องความยั่งยืนจำเป็นต้องผนึกกำลังร่วมกันจึงจะไปสู่เป้าหมายได้ รวมถึงการส่งต่อเทคโนโลยี และองค์ความรู้ต่างๆ ไปสู่ซัพพลายเชนในธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่อยู่ในห่วงโซ่กว่า 6,500 ราย เพื่อสื่อสารให้ตระหนักถึงประเด็นเรื่องความยั่งยืนรวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้แข็งแรงมากขึ้น และสามารถเป็นพลังเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ได้ในอนาคต พร้อมทั้งการนำร่องร่วมกับรายที่มีความแข็งแรงและพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่าน เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีทั้งศักยภาพที่เพิ่มขึ้นและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
8. นอกจากการขับเคลื่อนผ่านระบบ Operation แล้ว ซีพีเอฟยังเพิ่มแนวทางในการดูดซับคาร์บอนผ่านกิจกรรมสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะการปลุกต้นไม้ เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการดูดซับคาร์บอน เพื่อเพิ่มความสมดุลให้สิ่งแวดล้อม ผ่าน 2 โครงการที่ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี” และ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ซึ่งนอกจากช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ รวมท้ังต่อยอดมาสู่การเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิถีชุมชน ช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันสามารถแนุรักษ์ป่าได้แล้วรวม 14,000 ไร่ และมีแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 20,000 ไร่ ในปี 2030 รวมทั้งการผนึกกำลังกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเดินหน้า “โครงการกล้าจากป่า พนาในเมือง (กทม.) สนับสนุนต้นไม้ 100,000 ต้น หนุนเพิ่มพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่น ในโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ของ กทม.
9. ปัจจุบัน ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจมา 50 ปี แม้การจะก้าวไปให้ถึงปีที่ 100 ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสให้กับบริษัทอาหารแห่งนี้เช่นเดียวกัน เพราะแม้จะอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเมืองในระดับโลก โดยเฉพาะต้นทุนธุรกิจที่พุ่งขึ้นมากถึง 30-40% แต่ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจในปี 2565 ที่ผ่านมาล่าสุด สามารถสร้างการเติบโตได้ถึง 20% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 50 ปี ซึ่งเป็นการตอกย้ำได้อย่างชัดเจนว่า ความกังวลของโลกต่อประเด็น Food Security เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์และจับต้องได้ และเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกสำคัญที่จะช่วยสร้างให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ขณะที่การเติบโตในสิ้นปีนี้ ทางซีพีเอฟคาดว่าสถานการณ์ธุรกิจจะกลับมาสู่ภาวะปกติ โดยรักษาระดับการเติบโตในระดับ 8-10% ต่อปี เอาไว้ได้