เป็นหนึ่งในกลุ่มสตาร์ทอัพที่น่าจับตา เพราะแม้ว่าอาจจะไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากแพสชั่นหรือไอเดียทางธุรกิจ เหมือนสตอรี่ของผู้ประกอบการหลายๆ รายที่เราคุ้นเคยกัน แต่จุดเริ่มต้นของ Swoop Buddy คอมมูนิตี้แพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าแฟชั่นมือสองก็มีความน่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน
เมื่อกลุ่มเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 4 คน ได้แก่ คุณคณิน ทรงอธิกมาศ Co-Founders and CEO, คุณสุวิจักขณ์ นิ่มนวล Co-Founders and CTO, คุณฐิติพร สุดเจียดี Co-Founders (Fashion Management) และ คุณธวัลยา วิลสัน Co-Founders (Marketing and Communication) ที่ต่างมีความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และอยากเข้าไปมีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาให้กับโลกในแบบของตัวเอง โดยเฉพาะการมีโซลูชันเพื่อขับเคลื่อนที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นเองได้ง่ายๆ และไม่เป็นการไปซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
นำมาสู่การถือกำเนิดของ Swoop Buddy จากกลุ่มคนที่มองเห็นปัญหา และรู้ได้ว่าตัวเองเป็นทั้งส่วนหนึ่งของสาเหตุของปัญหา แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองและคนรอบข้างจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบของปัญหาได้ด้วยเช่นกัน จึงได้สร้างชุมชนที่สนับสนุนแนวคิด Circular Fashion เพื่อให้สินค้าแฟชั่นต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมาแล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับชื่อ ที่มาจาก Swap + Loop หรือการแลกเปลี่ยนกันได้แบบไม่จำกัด
คุณบอส – คณิน ทรงอธิกมาศ Co-Founders and CEO แห่ง Swoop Buddy ให้ข้อมูลว่า แต่ละปีเส้นใยกว่า 53 ล้านตัน ถูกนำมาใช้สำหรับผลิตเสื้อผ้าให้คนทั่วโลกใส่กัน แต่อัตราการใช้งานเสื้อผ้ากลับสั้นลงเรื่อยๆ ในทิศทางที่สวนทางกัน จากการที่โลกแฟชั่นหมุนไวขึ้น มีเทคโนโลยีที่ผลิตได้มากขึ้นในต้นทุนที่ถูกลง และราคาที่เข้าถึงง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้นทุนการผลิตสินค้าเหล่านี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ราคาเสื้อผ้าที่เราต้องจ่ายเท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนแฝงทั้งทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต ทรัพยากรแรงงาน หรือผลกระทบต่อสภาพอากาศของโลกทั้งจากกระบวนการผลิต ขนส่ง จนกว่าเสื้อผ้าเหล่านี้จะมาถึงมือพวกเรา ดังนั้น เมื่อสินค้าเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นมาแล้วจำเป็นต้องมีการใช้อย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด หากเจ้าของเดิมไม่ใช้งานแล้วก็สามารถส่งต่อให้คนอื่นๆ ในชุมชนนำไปใช้งานต่อ และเกิดการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันต่อได้อย่างไม่สิ้นสุด
“แค่การผลิตกางเกงยีนเพียงตัวเดียว ก็ต้องใช้ปริมาณน้ำเทียบเท่าได้กับปริมาณการบริโภคของคนหนึ่งคนที่สามารถดื่มไปได้ถึง 5 ปีครึ่ง ขณะเดียวกัน ผู้คนกว่าพันล้านคนในบางประเทศก็ยังต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มอยู่ รวมไปถึงเสื้อผ้าที่มีการผลิตออกมาจนถึงทุกวันนี้นั้น มีจำนวนมากกว่าประชากรทั้งโลกรวมกันเสียอีก แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ยังคงเดินหน้าผลิตเสื้อผ้าหรือสินค้าแฟชั่นต่างๆ ออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้านผู้บริโภคเองก็มีการใส่เสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่น้อยลง ส่วนใหญ่จะใช้งานอยู่เพียง 20-30% ของเสื้อผ้าที่มีอยู่จนล้นตู้เท่านั้น บางตัวใส่เพียงแค่ 1-2 ครั้ง เท่านั้น และสุดท้ายแล้ว จุดจบของเสื้อผ้าเหล่านี้ก็ต้องไปอยู่ที่หลุมฝังกลบ ซึ่งบางตัวก็ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายหลายร้อยปี เพราะเส้นใยวัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ทำมาจากส่วนประกอบของพลาสติกนั่นเอง”
สร้างพฤติกรรมเลือกแฟชั่นมือสองเป็น First choice
เป้าหมายสำคัญในการก่อตั้ง Swoop Buddy คือ การสร้างชุมชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนแนวคิดในการสนับสนุนการใช้สินค้าแฟชั่นมือสอง ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง Circular Fashion ด้วยการเปิดกว้างสำหรับสินค้าแฟชั่นจากตู้เสื้อผ้าของทุกคน ที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนหรือส่งต่อได้ที่ แพลตฟอร์มของ Swoop Buddy ที่มีทั้งออนไลน์ ทั้งจากเว็บไซต์ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ไลน์ และอินสตราแกรม รวมทั้งตามกิจกรรมต่างๆ ที่ทางทีมไปร่วมเพื่อเพิ่ม Touchpoint ให้สมาชิกสามารถเข้าถึง รวมทั้งมาเลือกดูสินค้าของแพลตฟอร์มได้อย่างใกล้ชิด
สำหรับสินค้าแฟชั่นในแพลตฟอร์ม จะมีอย่างหลากหลายทั้งเสื้อผ้า รองเท้า Accessories ต่างๆ โดยผู้นำมาส่งต่อ จะได้รับบัดดี้คอยน์ ตามการประเมินคุณภาพเสื้อผ้าที่นำมา และสามารถนำคอยน์ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนสินค้าในแพลตฟอร์มได้ทุกชิ้น โดยคิดอัตราค่าบริการเพียง 75 บาทต่อชิ้น หรือหากคอยน์ไม่พอก็สามารถซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกของแพลตฟอร์มแล้วรวมกว่า 300 ราย
โดยทางผู้ก่อตั้งจะพยายามเพิ่มการรับรู้และสร้างความตระหนักให้ผู้คนหันมาใช้สินค้าแฟชั่นมือสองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเดินหน้าจัดกิจกรรมที่สามารถเข้าใกล้ชิดผู้บริโภคได้มากกว่าเดิมทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด เพิ่มเติมจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาที่ต้องการอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มประสบการณ์รวมท้ังขยายรูปแบบการเข้าถึงจากช่องทาง Omni-channel เพื่อสามารถเพิ่มปริมาณการใช้สินค้ามือสองของผู้คนให้เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นได้
“ในอนาคต เราจะพยายามขยายขนาดของชุมชนให้เพิ่มมากข้ึน เช่น การจับมือกับพันธมิตรที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเรื่องของแฟชั่นยั่งยืน เพื่อจัดกิจกรรมสำหรับแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขยายจุดรับเสื้อผ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนเข้าถึงแพลตฟอร์มได้ง่ายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน อาจเพิ่มมูลค่าให้กับบัดดี้คอยน์จากสิทธิประโยชน์จากแพลตฟอร์มหรือพันธมิตรที่ต้องการร่วมกันขับเคลื่อนให้ Circular Fashion แข็งแรงและขยายตัวได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต”
ต้องถือว่า Swoop Buddy เป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มาแรงและน่าจับตากลุ่มหนึ่ง เพราะเรียกได้ว่าเพิ่งก่อตั้งมาไม่ถึงปี แต่ไอเดียและแนวคิดได้ใจกลุ่มผู้ลงทุนจากโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพต่างๆ ในหลายเวที ทำให้สามารถระดมทุนมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจได้มากกว่า 7 หลักแล้ว ขณะที่การขับเคลื่อนจากนี้ไป กลุ่มผู้ก่อตั้งจะพยายามสร้างความแข็งแรงและขยายวงกว้างให้คอมมูนิตี้ โดยเฉพาะความท้าทายสำคัญ ในการสร้างทัศนคติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกบริโภคสินค้าแฟชั่นของผู้คน ให้หันมาให้ความสำคัญกับสินค้ามือสองเป็นอันดับแรก มากกว่าการเลือกซื้อสินค้าใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากธุรกิจ Fast Fashion และสนับสนุนแนวคิด Sustainable Fashion ให้มากยิ่งขึ้น