SCG ประกาศขับเคลื่อนธุรกิจสู่ The Next Chapter รับมือโลกใบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม ทั้งเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและมีความกังวลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ต้นทุนพลังงาน การแข่งขันที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ ขณะที่ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง บริบทใหม่ๆ ของโลกที่ให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงนำมาสู่การปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกใหม่นี้ ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี อธิบายเพิ่มเติมถึงความหมายของ ‘SCG : The Next Chapter‘ คือ ความมุ่งมั่น หรือ Passion ของ SCG ในการเป็นผู้ส่งมอบโซลูชันให้ตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ทั้งกับลูกค้า สังคม รวมทั้งผู้คนทั่วไปในสังคมให้ดีขึ้นได้ และอย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป อาทิ การพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด สุขภาพและการแพทย์ ดิจิทัลโลจิสติกส์ นวัตกรรมกรีน สมาร์ทลีฟวิ่ง และหุ่นยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น
โดยมี 3 แกนหลักสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในทุกๆ การขับเคลื่อน เพื่อนำมาสู่การพัฒนาสินค้า บริการ หรือโซลูชันต่างๆ ออกมาในอนาคต ได้แก่
1. Customer โดยเอสซีจีจะขยับเข้ามาสร้างความใกล้ชิดลูกค้าในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปหรือกลุ่ม B2C มากขึ้น รวมทั้งยังคงรักษาลูกค้าในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มในฟาก B2B ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในช่วงก่อนหน้านี้ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน
2. Technology การพัฒนาเทคโนโลยีมีความสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนในอนาคตของเอสซีจี เพื่อสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งความสะดวก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยลดต้นทุนทั้งในการอยู่อาศัย หรือการดำเนินธุรกิจได้
3. Sustainability กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งบริบทสำคัญที่ผู้ทำธุรกิจไม่สามารถละเลยได้ เมื่อทุกภาคส่วนมีเป้าหมายขับเคลื่อนโลกไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีจากนี้ไปที่ต้องตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน
ทั้งนี้ SCG ได้วางงบประมาณในช่วง 5 ปีแรกของการเปลี่ยนผ่าน ไว้ที่ 1 แสนล้านบาท เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายในเข็มไมล์แรก ที่วางไว้ภายในปี 2030 กับความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้ลดลง 20% รวมทั้งการก้าวสู่การเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงที่สามารถตอบสนองตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดโลกในอนาคต
“เอสซีจีได้จัดสรรงบประมาณในสัดส่วนราว 60% สำหรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของกลุ่มธุรกิจเดิม ให้สามารถลดต้นทุนและประหยัดพลังงานรวมทั้งทรัพยากรต่างๆ ลงได้มากขึ้น ขณะที่อีก 40% จะใช้ในการพัฒนาโอกาส และสร้างโซลูชันใหม่ๆ ให้ธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานสะอาด หรือ SCG Cleanergy เช่น นวัตกรรมอากาศสะอาด ที่สามารถผลิตอากาศที่ดีให้กับผู้บริโภคไปพร้อมๆ กับมีความสามารถในการประหยัดพลังงาน ซึ่งจะมีทั้งโซลูชั่นส์สำหรับองค์กรธุรกิจต่างๆ รวมทั้งสำหรับผู้บริโภคทั่วไปซึ่งมีพฤติกรรมในการทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้บ้านเป็นมากกว่าแค่ที่อยู่อาศัย แต่มีบทบาททั้งในการทำงานและรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่มากขึ้นของเอสซีจีด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการพัฒนาสินค้ากรีนโพลีเมอร์ในกลุ่มนวัตกรรมสีเขียว ที่สามารถพัฒนาพลาสติกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถย่อยสลายได้ง่าย เป็นต้น โดยคาดว่าในอนาคต กลุ่มธุรกิจใหม่จะมีสัดส่วนได้ราว 20-25% ภายในปี 2030″
สำหรับนวัตกรรมและโซลูชันส์ต่างๆ ที่อยู่ในไปป์ไลน์ ของเอสซีจี ประกอบด้วย
1. โซลูชันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition Solutions)
– พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) สำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัย SCG Solar Roof Solutions สำหรับโรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ โรงพยาบาล โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ด้วยโซลูชันพลังงานสะอาดครบวงจร ในรูปแบบ Smart Grid Smart Platform ปัจจุบันมีกำลังการผลิตกว่า 195 เมกะวัตต์ พร้อมตั้งเป้า 3,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี
– นวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูง (Heat Battery) พัฒนานวัตกรรม Heat Battery หรือ Thermal Energy Storage ประสิทธิภาพสูง สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จาก solar เป็นพลังงานความร้อน กักเก็บความร้อนไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดด เพื่อให้โรงงานมีพลังงานไว้ใช้ ป้องกันปัญหาพลังงานขาดแคลน
– มุ่งพัฒนาพลังงานชีวมวลคุณภาพสูง (Biomass และ Biocoal) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเชื้อเพลิงจากขยะ (Refused Derived Fuel : RDF) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในโรงงานซีเมนต์ มุ่งสู่ Net Zero นอกจากนี้ ยังพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) เพื่อสร้างโอกาสให้ไทยเป็นผู้ส่งออกเชื้อเพลิงสะอาดภายในปี 2027
– แพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้า (EV Solution Platform) ได้แก่ อะเซทิลีนแบล็ค (Acelylene Black) ใช้เป็นส่วนประกอบในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเป็นวัสดุผลิตสายส่งไฟฟ้าแรงสูง EV Fleet Solution ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การจัดหายานยนต์ไฟฟ้า ประกันภัย ซ่อมบำรุง สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเช่า ขนส่งสินค้าและรับ-ส่งพนักงาน โดยตั้งเป้าส่งมอบรถ EV ในปีนี้ 492 คัน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6,400 ตัน และในปี 2023 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเป็น 9,600 ตันต่อปี
2. โซลูชันสุขภาพและการแพทย์ (Health and Medical Solutions)
โดยมีแผนเข้าสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical Supplies and Labware) กว่า 15,000 รายการ โดย SCGP เข้าถือหุ้น Deltalab ประเทศสเปน อาทิ Deltaswab ที่เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากร่างกาย และ Cryoinstant หลอดน้ำยาสำหรับเก็บรักษาตัวอย่างเชื้อด้วยความเย็น รวมทั้งการผลิต เม็ดพลาสติกเพื่อการแพทย์ โดย SCGC™ PP และ PVC อาทิ กระบอกเข็มฉีดยา สายและถุงน้ำเกลือ ถุงเลือด และโซลูชันที่เพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย อาทิ รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ถังทิ้งเข็มฉีดยา รถเข็นผู้ป่วย แคปซูลขนส่งผู้ป่วยทางอากาศ และหน้ากากอนามัยภายใต้แบรนด์ VAROGARD
3. ดิจิทัลโลจิสติกส์ครบวงจร (Digital logistics)
ด้วยบริการขนส่งและซัพพลายเชนครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดย SCGJWD ให้บริการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ขนส่งหลากหลายทั้งทางบก เรือ ราง อากาศ รองรับสินค้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ อาทิ วัคซีน ยา งานศิลปะมูลค่าสูง รถยนต์ อาหารแช่แข็ง สินค้าอันตราย พร้อมเครือข่ายครอบคลุมทั่วอาเซียนและจีน
4. นวัตกรรมกรีน (Green Solutions)
เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ ภายใต้ฉลาก SCG Green Choice จำนวน 232 รายการ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 67 ภายในปี 2573 จากนวัตกรรมต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีก่อสร้างครบวงจรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม CPAC Green Solution , นวัตกรรมพลาสติกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCGC GREEN POLYMER, EcoBioPlas นวัตกรรมเร่งการย่อยสลายของพอลิโพรพิลีนเพื่อแก้ปัญหาพลาสติกหลุดรอดไปสู่ธรรมชาติ และนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
5. โซลูชันสมาร์ทลิฟวิ่ง (Smart Living Solutions)
โซลูชันเพื่อการใช้ชีวิตที่สะดวก สบาย สุขภาพดี ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ อาทิ โซลูชันอากาศสะอาดและประหยัดพลังงาน สำหรับกลุ่มอาคาร (Smart Building) ได้แก่ SCG Bi–ion และSCG HVAC AirScrubber, ระบบดูแลสุขภาพและความปลอดภัยด้วย DoCare เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อบ้านกับโรงพยาบาล หรือโซลูชันที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย เช่น COTTO X ONE ก๊อกน้ำอัจฉริยะพูดได้ มีระบบสั่งการเปิด-ปิดด้วยเสียง ที่ช่วยประหยัดน้ำ และลดการสัมผัสที่เสี่ยงต่อเชื้อ และ BCI (brain-computer interface) สำหรับผู้ป่วยอัมพาต เป็นต้น
6. หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Artificial Intelligence Solutions)
โซลูชันเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต เช่น สมาร์มฟาร์มมิ่งครบวงจร โดยสยามคูโบต้า เพื่อส่งเสริมเกษตรกร เพิ่มผลผลิต เพาะปลูกแม่นยำ ประหยัดต้นทุน ด้วยเทคโนโลยี IoT อาทิ รถปลูกผักอัตโนมัติ แทรกเตอร์ไร้คนขับ ทั้งนี้ ยังมีแทรกเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด ชาร์จไฟได้รวดเร็ว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ เครื่องจักรกล-ออโตเมชั่น ให้บริการออกแบบ ผลิตเครื่องจักรกลให้โรงงานต่างๆ ที่มีความต้องการที่หลากหลาย โดยใช้ AI และ Machine Learning ตั้งแต่กระบวนการผลิต ประกอบ บรรจุ ลำเลียงและระบบคลังสินค้า อาทิ เครื่องจักรกลช่วยไลน์ประกอบรถยนต์ หุ่นยนต์ช่วยจัดเรียงสินค้า และเครื่องคัดแยกกุ้ง