ความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมและความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยคาดว่าในปี 2565 นี้ ขนาดของตลาด Green Technology หรือในกลุ่ม Sustainable Technology จะเติบโตที่ 15.85 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 13.28 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564
พร้อมทั้งคาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ในระหว่างปี 2565 – 2573 จะอยู่ที่ 22.4% โดยมูลค่าตลาดจะเติบโตได้สูงถึง 79.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเกือบ 2.8 ล้านล้านบาท (เทียบอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ = 35 บาท)
ข้อมูลจาก Grand View Research บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยระดับโลก ระบุว่า ความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล ส่งผลให้มีการพัฒนา Green Technology ที่หลากหลายเพื่อมีส่วนในการช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์, การใช้หลอดไฟ LED, การใช้พลังงานลม, การทำเกษตรแนวตั้ง ,EV หรือเทคโนโลยีที่ช่วยในการย่อยสลายต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ หลายประเทศทั่วโลกยังให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อช่วยบริหารจัดการและรีไซเคิลของเสีย ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีในการบำบัดฟื้นฟู อนุรักษ์น้ำ ลดขยะ หรือลดการใช้พลังงาน โดยตลาดหลักคือ อเมริกาเหนือ ซึ่งครองส่วนแบ่ง 40% ในปี 2564 จากการเร่งลงทุนโซลูชันและเทคโนโลยีสะอาดเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางการขับเคลื่อน Trilateral North American เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่อยู่ห่างไกล เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการใช้พลังงานหมุนเวียน ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 25.4% จนถึงปี 2573 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตในระดับโลก
ทั้งนี้ เทคโนโลยีด้านการพัฒนาโซลูชันและการให้บริการความยั่งยืนต่างๆ มีส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดถึง 68% ของรายได้ทั่วโลก แต่หากเจาะถึงประเภทของเทคโนโลยี จะพบว่า กลุ่ม IOT มีส่วนแบ่งมากที่สุดด้วยส่วนแบ่ง 40% ของรายได้ทั่วโลก เนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีหลายๆ กลุ่ม ในระบบ IOT ทั้ง AIและการประมวลผล, คลาวด์คอมพิวติ้ง, ดิจิทัลทวิน, ระบบความมั่นคง หรือบล็อกเชน เพื่อใช้ในการประมวลผลสีเขียว ที่ช่วยให้สามารถประหยัดพลังงานได้ทั้งซัพพลายเชน รวมทั้งการเลือกวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน ตลอดจนการจัดการขยะจากการบริโภคและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ช่วยส่งเสริมการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่หากพิจารณาด้านการพัฒนาโซลูชันในรูปแบบแอปพลิเคชั่น พบว่า กลุ่มอาคารสีเขียว หรือ Green Building จะมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 20% ของรายได้ทั่วโลก ตามมาด้วยกลุ่มบริหารจัดการด้าน Carbon Footprint , การตรวจจับมลพิษจากสภาพอากาศหรือน้ำ, การติดตามและคาดการณ์พยากรณ์อากาศ และระบบตรวจจับอัคคีภัย เป็นต้น