ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้โลกธุรกิจต้องปรับตัวกันอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กับแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ไม่สามารถโฟกัสแค่ตัวเลขผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป
แต่ต้องสามารถสร้างสมดุลเพื่อให้ทั้งฟากของธุรกิจยังสามารถทำกำไรเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตต่อไปได้ ประกอบกับการมีส่วนได้ดูแลผู้คนในสังคมให้สามารถดูแลปากท้อง ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งการเข้าถึงโอกาสเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างผลกระทบเชิงลบ และมีส่วนในการช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ของธรรมชาติและทรัพยากร ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตามกรอบ ESG เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งธรรมาภิบาลของธุรกิจ (Governance)
โอกาสัมมนาครบรอบ 10 ปี เว็บไซต์ Brand Buffet : Unlock The Future 2023 by Brand Buffet ในช่วง Unlock The Potential for Sustainable Growth ตัวแทนทั้งจากแบรนด์ผู้นำที่มีภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนตาม ESG Framework ได้มาแชร์วิธีคิดและการขับเคลื่อนความสมดุลของทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่าง คุณวิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน OR, คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงาน Enterprise Brand Management Office SCG
รวมทั้งมุมมองจากฟากของตลาดทุน ซึ่งช่วยฉายภาพสะท้อนความคิดของนักลงทุนที่มีต่อธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG รวมทั้งคำแนะนำสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจของตัวเองโดย คุณรัตน์วลี อนันตานานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
ทางรอดในโลกยุค ‘วิกฤต ซ้อน วิกฤต’
มุมมองทั้งของ SCG และ OR ต่างมีความเห็นตรงกันว่า โลกในยุคปัจจุบันอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ‘วิกฤต ซ้อน วิกฤต’ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 ที่ปัญหาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ขยายวงกว้างมากขึ้น และมีมิติที่ลึกซึ้งขึ้น ทั้งปัญหาสุขภาพจากโรคระบาด วิกฤตพลังงาน วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสภาพอากาศ หรือความเหลื่อมล้ำที่ช่องว่างแห่งโอกาสของผู้คนในแต่ละกลุ่มขยายห่างออกจากกันเพิ่มมากยิ่งขึ้น มีคนจนเพิ่มมากขึ้น เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเยอะขึ้น ทำให้มุมมองในการขับเคลื่อนธุรกิจ ต้องมองมากกว่าแค่ตัวเอง แต่ต้องแชร์ไปสู่ผู้คนในสังคม และมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งมากกว่าแค่การทำโครงการเพื่อสังคมในแบบเดิมๆ แต่เป็นการขับเคลื่อนในรูปแบบ In Business ที่ต้องทำให้เป็นเนื้อเดียวไปกับการทำธุรกิจตามปกติให้ได้
สำหรับ SCG นั้น ได้ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทาง ESG 4PLUS ซึ่ง คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร ได้อธิบายให้ฟังถึงแนวทางดังกล่าว ที่จะขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายผ่าน 4 แกน ประกอบด้วย 1. NET ZERO 2. GO GREEN 3. LEAN เหลื่อมล้ำ และ 4. ย้ำร่วมมือ ซึ่งในทุกองค์ประกอบจะต้อง PLUS เรื่องของความโปร่งใส และความเป็นธรรม เข้าไปด้วยเสมอ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญด้วยการเริ่มสื่อสารจากพนักงานภายในองค์กรก่อน เพื่อให้พนักงานทุกคนมีความเข้าใจ และมีส่วนในการนำไปปฏิบัติเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจตามปกติในแต่ละวัน ซึ่งตลอดกว่า 1 ปีที่ได้ขับเคลื่อนนโยบายมา ธุรกิจสามารถเพิ่มศักยภาพหรือมองเห็นโอกาสใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการใช้ Renewable ได้กว่าเท่าตัวจาก 20% มาเป็น 40% หรือการมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ในกลุ่มพลังงานทดแทน ซึ่งเกิดจากการเข้าไปช่วยรับซื้อผลิตผลและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานชีวมวลเพื่อใช้ในโรงงานผลิตซิเมนต์ที่มีการใช้พลังงานเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กลุ่มเกษตรกร ยังช่วยลดผลกระทบต่อสภาพอากาศ จากการนำเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือหลังการเก็บเกี่ยวไปเผา สร้างทั้งก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งยังเป็นสาเหตุของปัญหามลพิษฝุ่นควันที่กระทบต่อสุขภาพของผู้คนอีกด้วย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน หรือสร้างโอกาสให้คนที่มีความสามารถมีช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์ม Q ช่าง เพื่อแก้โจทย์ให้ทั้งคนที่ต้องการช่าง และช่างสามารถพบเจอลูกค้าได้โดยตรง รวมถึงบริการแม่บ้านทำความสะอาดต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้คนตัวเล็กๆ ได้กว่า 400 คนแล้ว รวมทั้งสร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์ได้กว่าร้อยล้านบาทเลยทีเดียว
“แม้เราจะเป็นบริษัทใหญ่ แต่ต้องให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กๆ ในสังคมเช่นกัน เพราะถ้าคนตัวเล็กๆ ไม่รอด ธุรกิจก็ไม่สามารถเติบโตได้ เรามีหน้าที่ช่วยเหลือคนตัวเล็กให้แข็งแรง มีทักษะที่สามารถแข่งขันได้ เข้าใจการทำธุรกิจ เข้าใจตลาด ใช้เครื่องมือต่างๆ ได้ รวมถึงการสร้างเครือข่ายหรือช่องทางให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวต่อไป ขณะเดียวกัน ในการทำธุรกิจของตัวเองก็มุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ดีทั้งต่อโลกและสังคมเพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตรอบด้านที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ช่วยดูแลทั้งสุขภาพผู้คนรวมทั้งสิ่งแวดล้อม โดยนอกจากเป้าหมายในการสร้าง Carbon Neutral ภายในปี 2030 และก้าวสู่ Net Zero ในปี 2050 แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการผลักดันสินค้านวัตกรรม Green Choice ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 67% จากปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายที่ 50% เพราะถ้าคนหันมาใช้สินค้าเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นก็จะเป็นการช่วยดูแลโลกไปเวลาเดียวกัน”
สอดคล้องกับความเห็นของ คุณวิศน สุนทราจารย์ ที่มองการขับเคลื่อนธุรกิจตามกรอบ ESG เป็นเหมือนใบอนุญาตจากชุมชน เพื่อให้ธุรกิจสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในแต่ละแห่งได้ การทำให้ชุมชนเปิดใจยอมรับ เชื่อมั่นว่าการเข้ามาของธุรกิจ นำมาซึ่งการพัฒนาและประโยชน์ให้กับชุมชนมากกว่าแค่การมาตักตวงผลกำไร ซึ่งหนึ่งในเป้าหมาของ OR คือ การให้ความสำคัญกับการช่วยสร้างรายได้ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในผู้คนในชุมชนโดยรอบ
ทั้งนี้ หากย้อนไปก่อนหน้า OR มีฐานธุรกิจหลักอยู่ในกลุ่มพลังงาน การทำให้สังคมยอมรับอาจจะต้องทำในรูปแบบของการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้คนในชุมชนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ เช่น การมอบทุนการศึกษา การจ้างพนักงานท้องถิ่น เพื่อช่วยสร้างงานในชุมชน แต่ปัจจุบัน OR มีธุรกิจที่หลากหลาย และมีโอกาสในการสร้างความยั่งยืนที่สามารถผสมผสานให้เป็นเนื้อเดียวกับการขับเคลื่อนธุรกิจ
โดยเฉพาะในมิติของการให้โอกาสกับกลุ่มคนที่ค่อนข้างเปราะบางหรืออาจจะไม่ได้รับโอกาสจากสังคมมากนัก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ก็สามารถเป็นพนักงานในร้าน Café Amazon For Chance ได้ หรือการเข้าไปสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่อรับผลิตภัณฑ์มาขายในโครงการไทยเด็ด ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการช่วยเหลือแบบกิจกรรมเพื่อสังคม แต่เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจตามปกติในฐานะพนักงาน หรือ Supply Chain ของธุรกิจ เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์และจุดยืนของ OR ที่เปิดกว้างโอกาสสำหรับการเติบโตร่วมกันให้แก่ทุกคน
“นอกจากมิติของการดูแลสังคมเพื่อให้ได้ License to Operate จากการเปิดใจยอมรับของผู้คนในชุมชนแล้ว ในมิติของการรับมือต่อปัญหาสภาพอากาศ ซึ่งปัจจุบันถูกยกระดับจาก Nice to Have มาเป็น Must Have โดยเฉพาะในหลายประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้ว ได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้มาเป็นหนึ่งในเงื่อนไข หรือออกเป็นกฎระเบียบสำหรับประเทศคู่ค้าต่างๆ ซึ่ง OR ให้ความสำคัญกับการมีส่วนแก้ไขปัญหา Climate Change โดยเฉพาะการสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานสะอาด โดยมีเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutral ในปี 2030 รวมทั้ง Net zero ในปี 2050”
ESG เป็น Game Changer ของธุรกิจ
ด้าน คุณรัตน์วลี อนันตานานนท์ ในฐานะตลาดทุนที่มีความใกล้ชิดทั้งฟากของกลุ่มธุรกิจและกลุ่มนักลงทุน มีมุมมองว่า ธุรกิจไทยที่สามารถขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนที่สร้างสมดุลให้ทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ ESG รวมทั้งมีการจัดทำข้อมูลรายงานด้านความยั่งยืนหรือ Sustainability Report ไว้อย่างชัดเจน ถือเป็นแต้มต่อในการทำให้ธุรกิจได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ให้ความสำคัญกับแนวทางการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กับการทำธุรกิจได้ เพราะการจัดทำข้อมูล ESG ถือเป็นการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจในอนาคต ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่นอกเหนือจากมิติทาง Financial เช่น การบริหารจัดการพลังงาน ทรัพยากร การดูแลลูกค้า คู่ค้า นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หรือความเท่าเทียมต่างๆ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจจะเข้ามากระทบกับธุรกิจได้ในอนาคต และธุรกิจต้องเริ่มให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากแค่ตัวเลขที่เป็นเรื่องของงบการเงินเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าพัฒนาการในการขับเคลื่อนความยั่งยืนตามกรอบ ESG ในประเทศไทยอาจยังไม่พัฒนาเท่าในต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนต่างประเทศได้คาดการณ์จำนวนบริษัทจดทะเบียนของไทยที่ขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนได้อย่างชัดเจนมีอยู่ราวๆ 30-100 บริษัทเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีอยู่ประมาณ 800 แห่ง ดังนั้น หากธุรกิจที่สามารถขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ได้ จะถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการสร้าง Game Changer ให้กับธุรกิจแต่ละรายได้อีกทางหนึ่ง
“ภาคธุรกิจต้องปรับมุมมองที่มีต่อเรื่องความยั่งยืน เพราะหลายคนยังมองว่าการทำเรื่องความยั่งยืน หรือ Sustainability ต้องใช้เงิน ซึ่งเรื่องนี้คนละเรื่องกับการใช้เงินเพื่อมาดูแลสิ่งแวดล้อม การบริจาค หรือทำโครงการเพื่อสังคม แต่เป็นกลไกในการทำงานตามปกติ ที่ต้องหาวิธีบูรณาการมิติของการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เข้าไปอยู่ในการทำธุรกิจตามปกติให้ได้ ที่สำคัญต้องไม่มองว่าการทำ ESG เป็นงานที่งอกออกมาจากงานประจำ หรือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นเรื่องของคนที่อยู่หน้างานเท่านั้น หรือมองว่าเป็นแค่เรื่องของบริษัทใหญ่ บริษัทที่มีกำไรแล้วเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ ก็จำเป็นต้องทำไม่แตกต่างกัน ยิ่งธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น โอกาสจะเข้าไปเป็นหนึ่งใน Ecosystem ของบริษัทใหญ่ในฐานะซัพพลายเชน ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะถูกถามถึง หากเราไม่เตรียมพร้อมก็จะเป็นการปิดกั้นโอกาสเติบโตให้กับธุรกิจของตัวเองได้เช่นเดียวกัน ”