หลังประกาศเป้าหมายขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน TCP Sustainability ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า’ ผ่าน 3 เสาหลัก ทั้งปลุกพลังแบรนด์สินค้า ปลุกพลังธุรกิจให้เติบโต และปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม
กลุ่มธุรกิจ TCP จึงได้วาง 4 Framework เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้อย่างสอดคล้องกับธุรกิจ ประกอบไปด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ (Product Excellence) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด (Circular Economy) การขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ (Carbon Neutrality) และการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (Water Sustainability)
โดยเฉพาะในมิติของ Circular Economy ที่มีเป้าหมายใหญ่ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลได้ทั้ง 100% ภายในปี 2567 รวมทั้งการลดการใช้ทรัพยากรใหม่ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันภาพรวมผลิตภัณฑ์ทั้งพอร์ตของกลุ่ม TCP สามารถรีไซเคิลได้แล้ว 90% เหลืออีกราว 10% ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน เพื่อสุดท้ายแล้ววัสดุทั้งหมดที่นำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์ จะต้องรีไซเคิลได้ทั้ง 100% ภายในไทม์ไลน์ที่กำหนด
คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ให้ข้อมูลว่า บรรจุภัณฑ์หลักๆ สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วจะสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดตามเป้าหมายอย่างแน่นอน ซึ่งในอีก 10% ที่เหลือ อาทิ เช่น ซีลพลาสติกที่ใช้รองฝาขวดสำหรับเครื่องดื่มแบบบรรจุขวด ฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ยังเป็น PVC และขวดพลาสติกของเครื่องดื่มบางประเภทที่ยังมีการฉีดสีอยู่ รวมทั้งซองแบบ Multi-layer ของซันสแนค ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้
“บริษัทจะเปลี่ยนฉลากจาก PVC ไปเป็น PET หรือในส่วนของซองสแน็คก็จะพัฒนาให้เป็น Monolayer แต่ยังสามารถรักษาคุณภาพของสินค้าภายในได้ดี รวมทั้งในกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลต่างๆ ที่จะเปลี่ยนไปเป็นการใช้พลาสติกใสแทน ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการปรับเปลี่ยนอย่างมาก เพราะจากการวิจัยข้อมูลทางการตลาด พบอินไซต์ผู้บริโภคที่ไม่นิยมเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนัลต่างๆ ในขวดใส แต่บริษัทเลือกที่จะเป็นชาเลนเจอร์ในการปรับเปลี่ยนและ Educated ตลาดเพื่อเลือกที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแม้จะสุ่มเสี่ยงกับผลระทบต่อยอดขาย แต่เชื่อว่าหากสามารถสื่อสารและ Educated ได้อย่างทั่วถึงผู้บริโภคจะเข้าใจและให้การตอบรับได้ในที่สุด”
ขับเคลื่อน “คณะเศษสร้าง” ช่วยจัดการขยะเข้าระบบ
นอกจากการปรับเปลี่ยนภายในกระบวนการของตัวเองแล้ว กลุ่ม TCP ยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ในฐานะอีกหนึ่งความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility-EPR) ผ่านกลุ่ม TCP Spirit ที่ได้ลงพื้นที่สร้างเครือข่ายชุมชนต่างๆ เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในการคัดแยกและจัดการขยะ โดยร่วมมือกับ องค์การระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เพื่อร่วมกันสร้างต้นแบบในการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการจัดการขยะภายหลังจากการบริโภคอย่างบูรณาการ ซึ่งถือเป็นต้นทางในการสร้าง ‘บรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน‘ เช่นเดียวกัน และจะขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวนี้ทั้งในไทยและเวียดนาม โดยตั้งเป้าที่จะจัดเก็บขยะอย่างน้อย 730 ตัน รวมทั้งสร้างโมเดลต้นแบบความรับผิดชอบในการจัดการขยะของกลุ่มธุรกิจ TCP ภายในระยะเวลา 3 ปี ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตร ชุมชน และอาสาสมัคร ผ่านกิจกรรมที่ให้ความรู้ ความเข้าใจการจัดการเศษขยะ มาสร้างให้เกิดประโยชน์ใหม่ นำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน
สำหรับภารกิจของกลุ่ม TCP Spirit ปีนี้ได้ปักหมุดที่จังหวัดระนอง ประตูสู่ภาคใต้ความงดงามของชายฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องเครือข่ายขับเคลื่อน “คณะเศษสร้าง” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการปัญหาขยะ ที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ทำงานร่วมกับ IUCN ร่วมกับอาสาสมัครรุ่นใหม่และคนในชุมชนกว่า 200 คน ร่วมเรียนรู้ปัญหาและผลกระทบจากขยะที่ บ้านหาดทรายดำ จ.ระนอง พื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์น้ำนานาชนิด ชาวบ้านในชุมชนจึงมีรายได้หลักจากการทำประมงพื้นบ้าน แต่ในปัจจุบันมีปัญหาปริมาณขยะเพิ่มขึ้น และมีข้อจำกัดในการจัดการขยะที่กำลังเริ่มสร้างผลกระทบต่อคนในพื้นที่มากขึ้น
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง ต้องเดินทางด้วยเรือเท่านั้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเข้าไปช่วยจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทั้ง 134 ครัวเรือน ในชุมชนต้องดูแลบริหารจัดการด้วยตัวเองเพื่อสามารถรักษาทรัพยากรในพื้นที่ให้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ไม่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งทาง TCP Spirit ได้ลงพื้นที่เพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาและร่วมขับเคลื่อนให้คนในชุมชนเรียนรู้การบริหารจัดการขยะ ในฐานะพื้นที่ต้นแบบด้านการจัดการขยะอย่างถูกวิธี และเป็นทางออกของปัญหาขยะล้นเมืองที่ทำได้จริง สามารถช่วยคืนชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนในชุมชนได้ก่อนจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ รวมทั้งนำแนวคิดไปปรับใช้ในเวียดนามซึ่งเป็นอีกหนึ่งฐานธุรกิจของ TCP เช่นกัน
คุณสุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวว่า 80% ของขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากขยะที่หลุดลอดมาจากครัวเรือน และ 20% ที่มากิจกรรมทางทะเล ดังนั้น จำเป็นต้องป้องกันขยะจากครัวเรือนไม่ให้เล็ดลอดลงสู่ทะเล การปลูกฝังองค์ความรู้เรื่องการคัดแยกและวิธีการจัดการตามประเภทให้กับคนในชุมชน จึงเป็นการบริหารจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลูกฝังให้มีการทำเป็นปกติ โดยปลูกฝังให้ทุกคนมองว่าเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนที่ต้องปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตัวเอง
ด้าน คุณไพบูลย์ สวาทนันท์ แพทย์ประจำตำบลหงาว จ. ระนอง ในฐานะผู้นำชุมชนบ้านหาดทรายดำ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญคือการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจให้ชุมชน ชี้ให้เห็นว่าน้ำเสีย และขยะจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหาย และสัตว์น้ำต่างๆ จะหายไปหมดในที่สุด จนกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของชุมชน โดยมีเป้าหมายในการทำให้หมูบ้านมีขยะเป็นศูนย์ภายในปีหน้า โดยสามารถบริหารจัดการกันเองภายในชุมชน และช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะได้มากกว่า 2-3 ล้านบาทต่อปี
ตลอดระยะเวลา 3 วันในการลงพื้นที่ทำกิจกรรม เหล่าอาสาสมัครจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรง ผ่านการพูดคุยกับผู้นำชุมชน ลงมือเก็บขยะร่วมกับชาวบ้าน เข้าใจปัญหาเรื่องการจัดการขยะในมิติต่างๆ เห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้น และเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างเห็นถึงความสำคัญและเริ่มลงมือแยกขยะ เพื่อทำให้ “เศษขยะ” กลายเป็น “วัสดุ” ที่มีคนต้องการได้ พร้อมนำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ออกแบบการคัดแยกขยะในแบบฉบับของตนเอง เพราะ “ขยะ” จะกลายเป็น “วัสดุรีไซเคิล” ไม่ได้เลย หากไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งการเรียนรู้ธรรมชาติและดูแลทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งผลที่ได้นี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) ของกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน